Sound of the City คืออีกหนึ่งโครงการภายใต้ ‘CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย’ เชิญชวนให้ศิลปินส่งผลงานเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากเมือง หรือย่านต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย โดยไม่จำกัดรูปแบบและแนวเพลง ซึ่งก่อนหน้านี้เราพาเดินทางขึ้นตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือไปหลายจังหวัดแล้ว ตอนนี้ก็เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายที่เราจะพาทุกท่านเที่ยวภาคกลาง ภาคตะวันออก ล่องใต้ ไปสำรวจสรรพเสียงของเมืองอื่น ๆ ที่ยังไม่ถูกกล่าวถึง รับรองว่าไพเราะและน่าสนใจไม่แพ้เพลงจากภูมิภาคก่อนหน้านี้เลย 

ภาคกลาง คือจุดศูนย์กลางของประเทศไทย ที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เหมาะแก่การเพาะปลูกและอยู่อาศัย อุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำ พืชพรรณ และเป็นครัวของประเทศ เพราะหลาย ๆ จังหวัดก็ใช้เป็นที่ปลูกข้าว ทำสวน ทำการปศุสัตว์ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเก่าที่สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งยังหลงเหลือรากอารยธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

อีกจังหวัดที่โด่งดังเรื่องตลาด แต่คราวนี้เป็นตลาดน้ำอย่าง ‘อัมพวา’ จังหวัดสมุทรสงคราม อุบลวรรณ เปียแก้ว เป็นนักศึกษาดุริยางคศิลป์ที่มีความพิการทางสายตา เล่าภาพที่เธอนึกถึงชุมชนแห่งนี้ออกมาเป็นเพลงใน ‘อัมพวา วิถีแห่งสายน้ำ’ โดยเธอเล่าถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ที่ประกอบอาชีพเพาะปลูก ค้าขาย หรือแม้แต่การคมนาคมก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับแม่น้ำแม่กลอง เพลงนี้จึงเลือกบรรเลงด้วยเปียโน เพื่อเป็นตัวแทนของทุกชีวิตที่มีสายน้ำเป็นสิ่งสำคัญ และใช้เสียงระนาด ซออู้ เล่นล้อรับกันไปมาเหมือนแม่ค้า ลูกค้า ซื้อขายต่อราคากัน อีกทั้งมีการใช้ซินธิไซเซอร์สร้างความเป็นปัจจุบันด้วย 

วริศ วสุพงศ์โสธร เลือกจังหวัดนครปฐม เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีทั้งตลาดดอนหวาย พระปฐมเจดีย์ พระราชวังสนามจันทร์ และเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาสำคัญ โดยใส่ความเป็นเพลงลูกกรุงในเสียงร้องแบบลูกทุ่งของคู่รัก ที่พากันเที่ยวชมความงามของเมืองนครปฐม

พระนครศรีอยุธยา อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรไทย ที่ปัจจุบันมีภาพจำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อชมโบราณสถาน และสักการะพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นที่เพาะปลูกมาแต่โบราณ ศักดิ์รวี อิ่มชุ่ม เล่าถึงความร่มเย็นและยิ่งใหญ่ด้วยการเรียบเรียงเพลงบัลลาด ที่ใช้การเล่าเรื่องคล้ายการบรรยายบรรยากาศในมิวสิคัล และที่ใช้ชื่อว่า ‘อยุทธยา’ ท่ีมีความหมายว่า ‘เมืองที่มิอาจต่อรบด้วยได้’ จึงมีการเปลี่ยนจังหวะเร็วช้าเพื่อสร้างอารมณ์แข็งขัน ใช้โครงสร้างออเคสตราให้ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีอย่างทิมปะนี เครื่องเป่า ไวโอลิน ผสมกับเสียงระนาด เพื่อให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ 

ส่วน พีระ นาคสิทธิ์ เล่าถึงบทบาทการเป็นเมืองหลวงของอยุธยาด้วยเพลงร็อกจังหวะหนักหน่วง มีความฮึกเหิมเหมือนกำลังตั้งพลรบ สลับกับมินิมัลแอมเบียนต์ที่มีเสียงระยิบระยับ เบสดรัมสร้างความยิ่งใหญ่ มีมนต์ขลังของอดีตกาล แต่ขณะเดียวกันก็ฟังดูเรียบง่ายแบบวิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยก่อน

ศุภกร วงศ์สำเเดง ก็เล่าถึงเมืองหลวงในสมัยก่อนอีกแห่งในเพลง ‘สุโขทัย’ โดยพานั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังกรุงเก่าผ่านเสียงเครื่องดนตรีทั้งไทยและตะวันตก ทั้งเครื่องดนตรีที่ให้เสียงธรรมชาติและเสียงสังเคราะห์ โดยตีความผ่านซาวด์ดนตรีร่วมสมัยที่เรียบเรียงออกมาให้คล้ายกับเพลงจากยุคก่อน ทั้งยังเน้นใช้เสียงฆ้องซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสมัยสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ท่อนสุดท้ายตัดดนตรีอื่น ๆ ออกไปจนเหลือแต่เชลโล่เดินทำนองหลัก ราวกับเล่าว่า แม้จะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว แต่ความทรงจำของประวัติศาสตร์แห่งกรุงสุโขทัยก็ยังคงอยู่

ขึ้นเหนือไปอีกนิดที่ ‘เขาค้อ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่แม้จะอยู่ภาคกลางตอนบน แต่ก็มีทิวทัศน์ภูมิประเทศที่งดงาม และอากาศเย็นสบาย ภาคภูมิ เฉลิมวิสุตม์กุล ตีความออกมาเป็นเพลง ‘ทะเลบนฟ้า’ อะคูสติกโฟล์กฟังสบาย ผสมกลิ่นอายไทย ๆ จากดนตรีไทย ให้ความรู้สึกเหมือนขับรถขึ้นไปเที่ยวเขาค้อ เพราะเนื้อเพลงพูดถึงความประทับใจในธรรมชาติ บรรยากาศ และทัศนียภาพที่สวยงามบนเขาค้อ ที่แม้ตัวอาจไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่ความทรงจำก็ยังปรากฏความสวยงามอย่างแจ่มชัด

กิตติคุณ ภักดีแก้ว อีกศิลปินที่เลือกพื้นที่นี้ ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปเยี่ยมคุณยายที่เขาข้อทุกปี เขาเล่าว่าทัศนียภาพบนเขาค้องดงาม เพราะมีทะเลหมอกในตอนเช้า มีทิวเขา และกังหันลมเรียงตามแนวสันเขา จึงเอามาประพันธ์เป็นเพลง chillhop จังหวะกลางเหมือนลมเอื่อย ๆ โดยนําโครงสร้างทํานองการร้องเพลงของชาวม้งมาประยุกต์เป็นเป็นทํานองหลัก ผสมกับเสียงเป่าใบไม้ และเสียงบรรยากาศที่อัดมาจากเขาค้อ จนได้เป็นเพลง ‘เสน่ห์แห่งเขาค้อ (Mount Allure)’ ที่ฟังแล้วรู้สึกเย็นใจ

สามารถตามไปรับฟังผลงานเพลงของศิลปินตัวแทนภาคกลางทั้งหมดได้ที่ : 

 

ย้ายมาที่ภาคตะวันออก ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ นัก อย่าง ‘พัทยา’ ที่นอกจากจะมีทะเลแล้ว ยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมากมาย ทั้งยังมีไฮไลต์อย่าง walking street ที่นักท่องเที่ยวไม่มีทางพลาดหากได้มาเยือนที่แห่งนี้ กฤษกรณ์ จินนะแก้ว ทำเพลง ‘Funky of Pattaya’ เป็นดนตรีฟังก์, nu disco ทำให้นึกถึงบรรยากาศยามค่ำคืน พร้อมทั้งใส่ autotune และซาวด์อิเล็กทรอนิกสุดซิ่ง ทำให้รู้สึกได้ถึงความสนุกของเมืองพัทยาในมุมนี้ อนึ่ง ผู้ทำเพลงได้แรงบันดาลใจจากมิวสิกวิดิโอเพลง ‘Lover Boys’ ของ ภูมิ วิภูริศ ที่พาเที่ยวชมหาดบางแสนในมุมมองที่ร่วมสมัยขึ้น

อีกศิลปินที่พูดถึง ‘หาดบางแสน’ จตุรงค์ น้อยบรรจง ทำเพลง ‘HeyDekchon’ เพราะเขาเป็นเด็กชลบุรีโดยกำเนิด โดยรวมระยะเวลาที่เขาอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นก็เป็นเวลา 30 ปีแล้ว ดนตรีได้อิทธิพลจาก EDM ผสมซาวด์ hardcore และจังหวะสามช่าสไตล์ไทย ๆ โดยตั้งใจให้รู้สึกถึงความเร้าใจเพราะที่นี่เวลาจัดงานสังสรรค์แต่ละที ชาวบ้านชาวช่องก็จะออกมาสนุกสุดเหวี่ยงกัน เป็นภาพชินตาของนักท่องเที่ยว อีกทั้งเขาได้นำคำขวัญของจังหวัดชลบุรีมาใส่ในท่อนดรอปด้วย 

เอกภัท ผ่านเมือง ศิลปินที่มีผลงานทั้งโพสต์ร็อก และแอมเบียนต์ Morning Dept เล่าเมืองใกล้เคียงกรุงเทพ ฯ อย่าง ‘ฉะเชิงเทรา’ ในเพลง ‘Welcome To Chachoengsao’ เขาหยิบประเด็นที่มีประชาชนพากันไปสักการะหลวงพ่อโสธรกันอย่างเนืองแน่น จึงใช้เสียงระฆัง เสียงมาริมบา มาสร้างแอมเบียนต์ความศักดิ์สิทธิ์ บวกกับเสียงเครื่องดนตรีสากลที่ให้ความรู้สึกสงบ จากธรรมชาติร่มรื่นริมแม่น้ำบางปะกง แต่ก็ยังใช้เสียงอิเล็กทรอนิกมาให้ความรู้สึกผ่อนคลายและร่วมสมัยไปในตัว

สามารถตามไปรับฟังผลงานเพลงของศิลปินตัวแทนภาคตะวันออก ทั้งหมดได้ที่ : 

 

ไปต่อที่ทะเลทางใต้ กับ ‘หัวหิน’ กับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตรุ่นคุณตาคุณยาย ที่ยังคงได้รับความนิยมมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะเป็นเมืองเงียบสงบใกล้ทะเล ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและทัศนียภาพงดงาม นภณัฐ ขำขนิษฐ์ หรือ Perfectly Casual ศิลปินอิเล็กทรอนิก แอมเบียนต์ เลือกทำเพลงที่พูดถึงบรรยากาศของหัวหินในความทรงจำ ใช้เสียงซินธิไซเซอร์แทนเสียงกระทบของคลื่น พูดถึงรถไฟที่เป็นวิธีการเดินทางของคนสมัยก่อนหากจะมาเที่ยวที่นี่ นำเสียงกีตาร์มาสร้างไดนามิกให้กับเพลง 

ขับลงไปที่จังหวัดระนองที่มีสถานที่ที่กำลังมาแรงอย่าง ‘เกาะพยาม’ โดย พิมพ์พร เมธชนัน หรือนักร้องนำวง Yellow Fang ใช้ชื่อที่ส่งผลงานว่า Slow But Sure เพลง ‘พยายาม’ ได้แรงบันดาลใจจากการไปเที่ยวเกาะพยามในช่วงมรสุม เวลาจึงหมดไปกับการเฝ้าดูความเป็นไปของท้องทะเล แต่ด้วยความพยายามที่อยากเข้าถึงธรรมชาติที่ไม่เเน่นอน เลยทำให้นักโต้คลื่นอย่างเธอต้องการจะพิชิตคลื่นที่ถาโถมเข้ามา ทำเพลงที่ได้อิทธิพลจาก stoner rock, psychedelic rock กับสไตล์การร้องเนือย ๆ ให้รู้สึกหนืด เหมือนการเฝ้าดูจังหวะคลื่น ว่าควรออกไปเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันมันก็สร้างความเพลิดเพลินได้อย่างไม่น่าเชื่อ

‘สมุย’ อีกเกาะในจังหวัดสุราษฎรธานีที่สวยงามไม่แพ้เกาะไหน ๆ ได้ เจอรี่—ศศิศ มลนทวณช โปรดิวเซอร์มากความสามารถ เลือกทำเพลง ‘สมุยของเรา’ ในสไตล์ฟังก์ร็อกร่วมสมัย ผสมกับดนตรีอิเล็กทรอนิก โดยได้ วรมน พงศ์พนรัตน์ นักร้องที่เป็นชาวสมุยโดยกำเนิดมาเล่าเรื่องธรรมชาติอันสวยงามของเกาะสมุย เมโลดี้ที่งดงามทำให้เรายิ่งอยากลงไปเอนกายที่เกาะสมุยบ้างเลย

ปิดท้ายด้วยเพลง ‘สงขลาบ้านเรา’ ของ วิศรุต อินทสะโร ที่พูดถึงเมือง ‘สงขลา’ ด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกแทร็ป ที่ผนวกเอาเสียงเครื่องสายพื้นบ้าน มาใส่กับบีตร่วมสมัย และแร็ปเป็นภาษาใต้เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในเมืองสงขลา ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งไทยพุทธ คนจีน มุสลิม หรือชาวโปรตุเกส โดยทำออกมาเป็นดนตรีฮิปฮอปผสมออเคสตร้าร่วมสมัย ร่วมด้วยดนตรีพื้นบ้านเพื่อสื่อถึงความที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย อย่างรองแงง และลิเกฮูลู สื่อถึงชาวมุสลิม ญาวี และให้ดนตรีมโนราห์ สื่อถึงคนไทยพุทธ โดยได้คณะมโนราห์ มหาวิทยาลัยทักษิณสงขลา มาร่วมสร้างสรรค์เพลงนี้ด้วย

สามารถตามไปรับฟังผลงานเพลงของศิลปินตัวแทนภาคใต้ ทั้งหมดได้ที่ : 

และทั้งหมดนี้คือ 75 เพลงจากทั่วประเทศในโครงการ Sound of the City สามารถฟัง Playlist ทั้งหมดได้ที่ JOOX และรอพบกับเพลงพิเศษอีก 25 เพลง พร้อมกิจกรรมพิเศษได้ในปีหน้า

เรียบเรียงโดย มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์