เจาะเทรนด์ประจำปี 2021 ผ่านมุมมอง ทัศนคติ และวิถีชีวิตของกลุ่มคนรุ่นต่างๆ Millennial (หรือ Gen Y) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1981-1996 เพื่อค้นหาและคาดการณ์สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่ต้องการ รวมทั้งศักยภาพที่ชาวมิลเลนเนียลมีต่อธุรกิจ เพราะหากเรียนรู้ความต้องการที่ตรงจุดของผู้บริโภคหลักตัวจริง การเติบโตของธุรกิจก็ย่อมเป็นไปได้

1.นิยมธุรกิจประเภท Direct to Consumer (D2C) เข้าถึงได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ธุรกิจประเภท Direct to Consumer (D2C) ส่วนใหญ่นั้นบุกเบิกโดยชาวมิลเลนเนียล แบรนด์ที่ทำการตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่จึงจับทางลูกค้ามิลเลนเนียลที่เปิดรับการขายแบบเดลิเวอรี่ และมักใช้แพลตฟอร์มอย่าง Instagram, Snapchat และ TikTok ในการขายของและโปรโมตสินค้าเพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้มากที่สุด

2.ชื่นชอบการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มในวันหยุด และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
73% คือจำนวนชาวมิลเลนเนียลผู้เสพติดโซเชียลมีเดีย เมื่อใช้งานมากขึ้น พวกเขาก็ยิ่งรู้สึกเหงา จึงพยายามมองหากิจกรรมช่วงวันหยุดหรือสุดสัปดาห์เพื่อไปเที่ยว นั่งร้านกาแฟ หรือโชว์ไลฟ์สไตล์หรูหรา ซึ่งจากสถิติพบว่า ชาวมิลเลนเนียลจำนวน 77% มักจะซื้อเครื่องดื่มและโพสต์ลงโซเชียลทุกๆ สัปดาห์ ส่งผลต่อรายได้การเติบโตของร้านกาแฟ ร้านชานมไข่มุก และร้านจำหน่ายเครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยม ณ ขณะนั้น

3.ลงทุนกับการซื้อสินค้าที่ใช้งานภายในบ้าน
บ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย กลายเป็นสิ่งที่ชาวมิลเลนเนียลเลือกลงทุนเป็นอันดับต้นๆ เพราะนอกจากจะเป็นที่พักพิง ยังเปรียบเสมือนหลุมหลบภัยที่คอยปลอบประโลมด้านจิตใจ ทำให้สินค้าที่ใช้งานภายในบ้าน (Home Economy) เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มมิลเลนเนียล การเลือกสรรของตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ของใช้ภายในบ้าน จึงกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับคนกลุ่มนี้ เช่น การเติบโตของตลาดต้นไม้ในร่มหรือเทียนหอมบำบัดที่มีราคาสูงขึ้นในท้องตลาดเกือบ 2 เท่าจากเดิม หรือการแต่งบ้านโดยยึดตามแนวคิดการพักผ่อนแบบ Slow-Life โดยการตกแต่งประเภทนี้ เฟอร์นิเจอร์ที่มีสีเรียบ หรือลวดลายสไตล์นอร์ดิกจะเป็นที่ต้องการมากกว่าการตกแต่งแบบหรูหรา 

4.ใส่ใจเรื่องสุขภาวะ และกิจกรรมสร้างสมดุลให้ชีวิตและหน้าที่การงาน
ชาวมิลเลนเนียลคือกลุ่มที่ยึดถือเรื่องสุขภาวะ (Wellness) มากที่สุด จนกลายเป็นผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนตลาดสินค้าและบริการดังกล่าว เป็นที่มาของคอร์สออกกำลังกาย อาหารคลีนที่เติบโตขึ้นรวดเร็วภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้สู่ตลาดถึง 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ การมองหากิจกรรมที่สร้างความสมดุลให้ชีวิตและหน้าที่การงาน เช่น ASMR เทคโนโลยีเสียงบำบัดอารมณ์ หรือการท่องเที่ยวแบบ Slow Travel ที่ไม่พึ่งไกด์ แต่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ เหล่านี้เป็นวิธีการในการปรับสมดุลร่างกายและจิตใจจากชีวิตการงานที่เคร่งเครียดได้

5.ความต้องการตลาดสัตว์เลี้ยงและบริการเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น
ความพยายามหลีกหนีชีวิตดิจิทัล แล้วมองหาประสบการณ์และความสัมพันธ์ในชีวิตจริง ทำให้ชาวมิลเลนเนียลกลายเป็นที่ต้องการของตลาดสัตว์เลี้ยง (Pet Economy) เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า รายงานจาก Grand View Research คาดการณ์ว่า ตลาดจำหน่ายสัตว์เลี้ยง รวมถึงสินค้าและการบริการเพื่อสัตว์เลี้ยง จะเติบโตขึ้นถึง 202.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2025 ซึ่งเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงมากที่สุด โดยมีร้านค้ามากมายหันมาจำหน่ายและให้บริการทางออนไลน์มากขึ้น การทำการตลาดแบบ D2C (Direct to Consumer) ทั้งการจำหน่ายสินค้า อุปกรณ์ และบริการแบบพรีเมียม ไปจนถึง Pet Coach หรือคลินิกฝึกและดูแลสัตว์เลี้ยง จะได้รับความนิยมเพื่อตอบรับลูกค้าชาวมิลเลนเนียลที่เปรียบสัตว์เลี้ยงดั่งลูก 

6.ยินดีจ่ายเงินให้กับศูนย์เลี้ยงเด็กในราคาสูงขึ้น หากจัดโปรแกรมแบบมืออาชีพเฉพาะด้านสำหรับเด็ก และใส่ใจถึงความสะดวกของพ่อแม่ได้ตรงใจ
พ่อแม่ชาวมิลเลนเนียลมีวิธีการเลี้ยงลูกแบบยืดหยุ่นและไม่เข้มงวดมากนัก ขณะเดียวกันก็มองหาศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีการปรับการให้บริการและออกแบบโปรแกรมการสอนแบบมืออาชีพเฉพาะด้าน มีกิจกรรมเสริมสร้างทักษะด้านอารมณ์มากขึ้น มีกิจกรรมและพื้นที่ให้พ่อแม่ที่เป็นฟรีแลนซ์ได้ทำร่วมกันกับลูกในวันเวลาที่ยืดหยุ่น รายงานจาก National Health and Family Planning Commission ระบุว่า พ่อแม่ชาวอเมริกันที่มีอายุราว 20-45 ปี จำนวน 64% ยินดีจ่ายเงินให้กับศูนย์เลี้ยงเด็กในราคาสูงขึ้น หากศูนย์เหล่านั้นจัดโปรแกรมสำหรับเด็กที่ใส่ใจถึงความสะดวกของพ่อแม่ได้ตรงใจ หรือมีบริการสอนแบบคอร์สส่วนตัว ทำให้เกณฑ์ค่าเลี้ยงดูในศูนย์เด็กเล็กนิวยอร์กสูงขึ้นถึง 12,064 เหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 4 แสนบาทต่อเทอม เช่นเดียวกับในอังกฤษที่ปรับเกณฑ์ค่าเทอมเพิ่มสูงถึง 15,700 ปอนด์ หรือราว 6 แสนบาท

7.คุณแม่มิลเลนเนียลกับแนวโน้มรับงานอิสระ
ธุรกิจให้บริการรับเลี้ยงและดูแลเด็กที่ตอบโจทย์แนวคิด Work-Family Balance กำลังเติบโต จากรายงานของ Pew เผยว่า ผู้หญิงชาวมิลเลนเนียลที่มีลูก มักเลือกทำงานในลักษณะฟรีแลนซ์หรือรับงานแบบอิสระ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 50% ในสหรัฐอเมริกา และ 70% ในยุโรป วิธีทำงานของแม่ที่มีสถานะฟรีแลนซ์ที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้บริษัทอย่างแอมะซอนจัดนโยบายการจ้างงานสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งถูกเรียกว่า Momazonian สอดคล้องกับผลสำรวจของ CDC ที่ระบุว่า บรรดามิลเลนเนียลสถานะแม่ ยังคงรักษาสถานะการทำงานอยู่แม้จะมีลูกก็ตาม ซึ่งพบว่ามีจำนวนถึง 70% ที่รับจ้างทำงานแบบฟรีแลนซ์ถึง 3 ที่ในเวลาเดียวกัน

8.เทรนด์เสื้อผ้าคู่สำหรับแม่ลูกกำลังมา
ชาวมิลเลนเนียลยึดถือเรื่องความเท่าเทียม หน้าที่เลี้ยงดูลูกจึงไม่ตกอยู่ที่พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง จากผลสำรวจของ Ipsps Global ปี 2019 พบว่า คุณพ่อชาวมิลเลนเนียลจำนวน 75% ยินดีทำงานที่บ้าน (Work from Home) เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ซึ่งรวมถึงพ่อแม่ LGBT ที่รับเลี้ยงลูกบุญธรรม ในขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของแม่จะดูแข็งแกร่ง โฉบเฉี่ยวด้วยแฟชั่นเสื้อผ้าที่สามารถแมตช์เข้ากันกับลูก ซึ่งเสื้อผ้าแฟชั่นชุดคู่นั้นได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้เกิดการตลาดที่เรียกว่า One size fits all ซึ่งเป็นเซ็ตเสื้อผ้าคู่สำหรับแม่ลูก ทั้งในแบรนด์สินค้าแบบลักชัวรีและตลาดเฉพาะกลุ่ม

ที่มาภาพเปิด : Unsplash/wildlittlethingsphoto

ที่มา :
บทความ “Adventure Travel: Rebuilding Tourism”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Communication Strategy: Millennial Marketing: Self-Care and Wellness”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Customer Insight: Millennial Extremes: Paradoxical Behaviors”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Customer Insight: Millennial Mums: Progressive Motherhood”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Customer Insight: Millennial Parents: Childcare Reimagined”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Customer Insight: Millennial Plant Parents”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Customer Insight: Millennial: The Evolving Pet Economy”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Customer Insight: The Future of Work”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Store Strategy: Designing for Millenials”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN