เจาะเทรนด์ประจำปี 2021 ผ่านมุมมอง ทัศนคติ และวิถีชีวิตของกลุ่มคนรุ่นต่างๆ เริ่มต้นที่ Baby Boomer กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1946-1964 เพื่อค้นหาและคาดการณ์สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่ต้องการ รวมทั้งศักยภาพที่เจนเบบี้บูมเมอร์มีต่อธุรกิจ เพราะหากเรียนรู้ความต้องการที่ตรงจุดของผู้บริโภคหลักตัวจริง การเติบโตของธุรกิจก็ย่อมเป็นไปได้
1.มีเวลาเพื่อดิจิทัล เป็นลูกค้าหลักสำหรับสินค้าสมาร์ตโฟน ไอแพด และแอพพลิเคชัน
หลังจากปี 2019 ชาวบูมเมอร์ส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ การได้พักหลังการทำงานที่ยาวนานทำให้คนกลุ่มนี้มีเวลาหันมาเข้าสู่วงการดิจิทัลอย่างเต็มตัว สถิติจากรายงาน Future-Proofing Your Brand เผยว่า ชาวบูมเมอร์ได้กลายเป็นฐานลูกค้าหลักสำหรับสินค้าสมาร์ตโฟนและไอแพด และเป็นผู้บริโภคที่มียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชันต่อเดือนมากที่สุด ซึ่งเห็นชัดที่สุดในช่วงล็อกดาวน์จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของการล็อกดาวน์ ชาวบูมเมอร์ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันใหม่ๆ มากถึง 1.2 พันล้านครั้งทั่วโลก ทำให้หลายแบรนด์เลือกลงทุนโฆษณาในวิดีโอของแบรนด์ที่ชาวบูมเมอร์นิยมดาวน์โหลด ซึ่งในจำนวนแอพพลิเคชันนั้น พบว่ามี 82% ที่เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชันเกมหรือรายการถ่ายทอดเกม eSport ประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งประเภทเกมส์ต่อสู้ใช้พลังและเกมกีฬาที่จำลองสถานการณ์ใกล้เคียงในชีวิตจริง
2.เฟซบุ๊ก ศูนย์รวมเครือข่ายโซเชียลแห่งใหญ่ที่สุดสำหรับชาวบูมเมอร์
เฟซบุ๊กคือศูนย์รวมเครือข่ายโซเชียลแห่งใหญ่ที่สุดสำหรับชาวบูมเมอร์ จนกลายเป็นที่รวมตัวกันสังสรรค์หรือท่องเที่ยว ซึ่งมีผลมาจากการติดต่อผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย และการเกิดสังคมออนไลน์ที่สามารถกำหนดเพื่อนเฉพาะกลุ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะสำหรับหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งให้ความสนใจข่าวสารและการอัพเดตชีวิตจากเพื่อนมากที่สุด
3.ผู้บริโภคที่เชื่อคำโฆษณาหรือการโน้มน้าวจากสื่อเฟซบุ๊กมากกว่าเจนอื่น
การโฆษณาสินค้าแบบให้ทดลองใช้ก่อนสามารถจูงใจและสร้างความเชื่อถือต่อชาวบูมเมอร์ได้ดี ผลสำรวจจาก MediaPost เผยว่า เจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์คือผู้บริโภคที่เชื่อคำโฆษณาหรือการโน้มน้าวจากสื่อเฟซบุ๊กมากกว่าเจนอื่น 19% สอดคล้องกับรายงานสำรวจจาก 2020 Brand Intimacy Survey ที่ระบุว่าชาวบูมเมอร์อายุราว 55-64 ปี คือลูกค้าประจำของร้านค้าแอมะซอน โตโยต้า และคอสโก้ โดยได้รับการจูงใจมาจากสื่อเฟซบุ๊ก หรือได้รับรางวัลจากแคมเปญบนแอพพลิเคชัน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าอื่นๆ ที่ใกล้เคียงหรือเป็นแบรนด์เดียวกันกับที่เคยได้ทดลองใช้
4.ชื่นชอบประสบการณ์บันเทิงด้านซีรีส์และภาพยนตร์
ประสบการณ์บันเทิงด้านซีรีส์และภาพยนตร์ นับเป็นบริการที่เป็นที่ชื่นชอบของเบบี้บูมเมอร์เช่นกัน บริษัท Netflix ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น จึงคัดสรรภาพยนตร์เก่าๆ มาไว้ เช่น เรื่อง Stir Crazy, Staying Alive หรือภาพยนตร์ชุดเรื่อง The Godfather นอกจากนี้ยังลงทุนในภาพยนตร์ที่นำดารานักแสดงวัยบูมเมอร์มารับบทนำ เช่น เรื่อง The Irishman ซึ่งเผยความเท่แอ็กชั่นฉบับหนุ่มใหญ่ นำแสดงโดยโรเบิร์ต มาริโอ เดอ นิโร (Robert Mario De Niro) เรื่อง Grace & Frankie เผยมุมมองของเหล่าบูมเมอร์ในทัศนคติทันโลกฉบับเวิร์กกิงวูแมน นำโดยเจน ฟอนด้า (Jane Fonda) หรือเรื่อง The Kominsky Method ที่นำแสดงโดยไมเคิล เคิร์ก ดักลาส (Michael Kirk Douglas) นักแสดงผู้เป็นตำนานแห่งฮอลลีวูดที่มาบอกเล่าทัศนคติของคนรุ่นเก่าที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยเห็นและเข้าใจมาก่อน
5.สนใจอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อสุขภาพ
การเติบโตด้านความต้องการทางดิจิทัลของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ยังส่งผลต่อตลาดด้านอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่สวมใส่ได้ (Wearable) ได้แก่ นาฬิกาตรวจจับการเต้นของหัวใจ นาฬิกาสำหรับออกกำลังกาย เครื่องนับก้าว เป็นต้น รายงานจาก Deloitte คาดการณ์ว่าสินค้ากลุ่มนี้จะสามารถเติบโตได้อีกในตลาดของเบบี้บูมเมอร์และเจนเอ็กซ์ ซึ่งมีโอกาสทำรายได้ในท้องตลาดถึง 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
6.ยินดีทำงานต่อแม้เกษียณอายุ หรือมองหางานใหม่แม้อายุจะมากกว่า 65 ปี
งานวิจัยจาก RAND เผยว่า ชาวเบบี้บูมเมอร์มากกว่า 50% ไม่ต้องการเกษียณอายุจากการทำงาน โดย 39% ยินดีมองหางานใหม่แม้ว่าอายุจะมากกว่า 65 ปีก็ตาม ในสหราชอาณาจักร มีบูมเมอร์เพียง 25% เท่านั้นที่ออกจากงานหลังเกษียณอายุ ซึ่งในจำนวน 50% ยินดีทำงานต่อไปอีก 5 ปี และงานที่มองหามักตรงกับสาขาที่เรียนมา เพราะไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ แต่จะเสริมแนวคิดด้านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน รายงานจาก Deloitte ปี 2020 เผยว่า มีบริษัทจำนวน 20% รู้สึกไว้วางใจในธุรกิจหรือบริษัทที่มีคู่ค้าเป็นวัยบูมเมอร์มากกว่า และมีบริษัทจำนวน 16% ที่ยินดีรับพนักงานสูงวัยที่ไม่ต้องการเกษียณอายุเข้าทำงาน เช่น McDonald’s และ BMW โดยบริษัทยังยินดีจัดโปรแกรมสอนพนักงานที่อายุมากกว่า 50 ปี เพื่อเสริมความชำนาญและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้พนักงานกลุ่มนี้
ที่มาภาพเปิด : Unsplash/Sven Mieke
ที่มา :
บทความ “Boomer Marketing: New Digital Habits”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Boomer Workforce: Shifting Priorities”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Consumer Insight: The Intergenerational Opportunity”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Social Isolation and Loneliness in Older Adults”, Study Report โดย National Academy of Sciences
บทความ “Strategy 2021: Big Ideas Accessories”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล WGSN
บทความ “Technology for Aging”, จัดทำโดย Aging and Health Technology Watch เข้าถึงจาก ageinplacetech.com
บทความ “Top 5 Senior Living Technology”, เข้าถึงจากฐานข้อมูล CDW