ปี 2020 เปิดศักราชมาพร้อมกับเหตุด่วนเหตุร้ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรก เริ่มตั้งแต่ไฟป่าที่ออสเตรเลียที่ลุกลามข้ามปี หรือ PM 2.5 ที่ก็ยืดเยื้อมาหลายปีเช่นกัน เข้มข้นขึ้นอีกด้วยความไม่สงบระหว่างสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง และที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้คนไทยจำนวนมาก คือเหตุกราดยิงที่โคราชซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบอีกหลายครั้ง
แต่คำที่คนทุกทวีปทั่วโลกขยาดและหวาดกลัวที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้น “โควิด-19”
โรคระบาดครั้งนี้นอกจากคร่าชีวิตและสุขภาพของผู้คนกว่า 160 ประเทศแล้ว ยังกระทำชำเราธุรกิจน้อยใหญ่และตลาดหุ้น พรากมนุษยธรรม และย่ำยีสุขภาพจิตของสังคมเราอย่างไม่ปรานี
เรามีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่จะกลัวโควิด-19 ทั้งการแพร่เชื้ออันง่ายดาย จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกวัน การขาดวัคซีนป้องกัน การบริหารจัดการที่ไม่ทันท่วงที ข้อเท็จจริงที่น่ากลัวยังถูกโหมประโคมด้วยข่าวปลอมให้กระแสทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก...โควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่เราควรเตรียมใจอย่างไร
©Captionery/Unsplash
เราจิตตกเพราะโควิด...หรือความคิด
ในเชิงกายภาพ ถึงแม้องค์การอนามัยโลกจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาด (Pandemic) ที่เกิดจากจากไวรัสโคโรนาเป็นครั้งแรก (องค์การอนามัยโลกจัดให้โรคซาร์สและโรคเมอร์สเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ไม่ถือว่าเป็นโรคระบาด) แต่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ก็ไม่ได้ถือว่าร้ายแรงเมื่อเทียบกับโรคระบาดอื่น ๆ ในอดีตที่ผ่านมา เพียงแต่ความหนักหนาสาหัสของการระบาดครั้งนี้อยู่ที่
อัตราการแพร่เชื้อที่รวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้าง
แต่ทำไมโควิด-19 ถึงมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงเหลือเกิน
โควิด-19 (COVID-19 ย่อมาจาก Coronavirus Disease 2019) เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชื่อ 2019-nCoV หลายคนคงทราบแล้วว่าไวรัสตระกูลโคโรนาไม่ใช่แขกแปลกหน้าเสียทีเดียว ไวรัสโคโรนาที่พบในสัตว์และคนมีกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ที่ผ่านมา มนุษย์รู้จักกับไวรัสโคโรนา 6 สายพันธุ์ สายพันธุ์ดั้งเดิมที่ทำให้เกิดโรคประจำถิ่นอย่างหวัดและโรคทางเดินหายใจมี 4 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์อุบัติใหม่ 2 สายพันธุ์ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบแบบเฉียบพลันอย่างโรคซาร์ส (SARS ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) และโรคเมอร์ส (MERS ย่อมาจาก Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus หรือ ไวรัสทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) 2019-nCoV เป็นสมาชิกลำดับที่ 7 ในตระกูล เมื่อปี 2002 มีผู้เสียชีวิตจากโรคซาร์สรวม 774 คนจากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 8,096 คน อัตราการตายคิดเป็น 10% ต่อมาในปี 2012 มีผู้ติดเชื้อโรคเมอร์สทั้งหมด 2,494 คน และเสียชีวิต 858 คน หรือคิดเป็น 34% เมื่อเทียบกับโควิด-19 ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 คนจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 220,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มีนาคม 2020) นับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2019 เป็นต้นมา อัตราการตายของโรคคิดเป็นเพียง 3.4% เท่านั้น และถ้าย้อนกลับไปเกือบ 700 ปีที่แล้ว ระหว่าง ค.ศ. 1347-1351 เกิดโรคระบาด Black Death หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันว่า กาฬโรค มีผู้เสียชีวิตราว 75-150 ล้านคน ทำให้ประชากรโลกลดลงจากประมาณ 450 ล้านคนเหลือ 300-375 ล้านคน นับเป็นความเสียหายจากโรคระบาดที่ใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ส่วนโรคระบาดที่ร้ายแรงเป็นอันดับสอง คือ โรคไข้หวัดใหญ่สเปน ที่ออกอาละวาดในช่วง ค.ศ. 1918 ประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของโลกติดเชื้อดังกล่าว และราว 50 ล้านคนเสียชีวิต |
สาเหตุหลักของการติดต่อทางร่างกายอย่างรวดเร็ว คือ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปในยุคโลกาภิวัต สังคมเมืองมาพร้อมกับพลวัตที่เลื่อนไหลอย่างรวดเร็ว ผู้คนใช้เงินซื้อความสะดวกสบายและความสุข นิยมกิน ดื่ม เที่ยว ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านมากขึ้น อยู่คนเดียวน้อยลง และที่สำคัญ วิถีชีวิตที่ไม่อยู่นิ่งทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรมากขึ้น การเดินทางข้ามจังหวัดข้ามประเทศเป็นเรื่องง่ายและราคาย่อมเยากว่า 10-20 ปีที่แล้วมาก คนจำนวนมากทำงานต่างบ้านต่างเมือง คนจำนวนไม่น้อยเพลิดเพลินกับการไปสถานที่ต่างวัฒนธรรม ทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้อย่างไร้พรมแดน ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบินเมื่อปี 2019 มีทั้งหมด 4,500 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 2,479 ล้านคนเมื่อปี 2009 และ 1,994 ล้านคนเมื่อปี 2004
เมื่อสถานการณ์เริ่มรุนแรง ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมการติดเชื้อ ประกาศลดการเดินทางไปต่างประเทศ งดการประชุมและชุมนุมสังสรรค์ ปิดสถานที่ทำงานและสถานบันเทิงหลายแห่ง รวมถึงสถานศึกษาทุกแห่ง ผู้บริโภคแห่แหนกันกักตุนสินค้าและพ่อค้าแม่ค้าโก่งราคาสินค้าไปพร้อม ๆ กัน
ประชาชนออกจากบ้านน้อยลง กิจกรรมที่เคยชื่นชอบอย่างการกินข้าว เช็กอินตามคาเฟ่ นวด ทำเล็บ ออกกำลังกาย กินเหล้าเฮฮา รวมถึงเที่ยวต่างจังหวัดและต่างประเทศก็ต้องลดลงไปโดยปริยาย ความโดดเดี่ยวจากการกักตัวและการรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้กลุ่มประชากรสุขนิยมเริ่มหดหู่ เพราะโหยหาแหล่งที่มาของความสุขอันคุ้นเคย
เมื่อพฤติกรรมการบริโภคและกิจกรรมนันทนาการเริ่มลดลง ธุรกิจหลายแห่งชะลอตัว เกิดปัญหาคนว่างงาน เศรษฐกิจหยุดชะงัก ตลาดหุ้นซบเซา ทั้งหมดนี้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มความเครียดชั้นดีที่ต่อเนื่องกันเป็นห่วงโซ่
เมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้น เวลาว่างส่วนใหญ่ก็หมดไป การท่องโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยิ่งเราเสพข่าวมากแค่ไหน ความตื่นตระหนกวิตกจริตก็มากขึ้นเท่านั้น
การคาดเดาอนาคตไม่ได้และไม่รู้จุดจบของเหตุการณ์เช่นนี้ส่งผลให้เกิดข่าวลวง ข่าวลือที่ได้รับความเชื่อถือพอ ๆ กับข้อเท็จจริง ความกลัวแพร่สะพัดเข้าสู่จิตใจของเรายิ่งกว่าฝอยละอองของผู้ติดเชื้อ ความตึงเครียดค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ความโกลาหลตามมาติดๆ
สังคมเราคงไม่ตายด้วยโควิด-19 แต่จะมีปัญหาสุขภาพจิตไปเสียก่อน
ความกลัวผันแปรตามความไม่รู้
ท่ามกลางมหาสมุทรเฟคนิวส์และสึนามิที่พัดพาข่าวที่รุนแรงเกินจริง คุณรู้ไหมว่า 80% ของผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย 15% แสดงอาการ และ 5% เข้าข่ายวิกฤต
คุณรู้ไหมว่า ทอม แฮงค์ส พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียงห้าวันเท่านั้น
คุณรู้ไหมว่า ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแทบจะไม่มีโอกาสในการแพร่เชื้อเลย
คุณรู้ไหมว่า ระยะที่ 1 2 3 ของสถานการณ์แพร่ระบาด ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรค
ส่วนความจริงที่เป็นทั้งข่าวร้ายและข่าวดี คือ สถานการณ์จะแย่ลงอีก แต่หลังจากนั้นจะดีขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงธรรมชาติของโรคระบาดว่า การระบาดของโรคหลายชนิดที่เกิดจากไวรัส เมื่อประชากรกว่าครึ่งติดเชื้อทั้งแบบมีและไม่มีอาการ จะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และเมื่อประชากรจำนวนมากมีภูมิต้านทาน โรคระบาดจะลดความรุนแรงลง กลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือระบาดตามฤดูกาลแทน เช่น ไข้หวัดใหญ่สเปนที่มีความสูญเสียค่อนข้างมากในปีแรก หลังจากนั้นก็อยู่ประจำถิ่นเป็นไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลต่อมาอีกนาน ส่วนไข้ทรพิษระยะแรกมีความรุนแรงมาก เมื่อมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันออกมาก็ทำให้ไข้ทรพิษหายไปในที่สุด
ในระหว่างนี้ที่ยังไม่มีวัคซีนรักษาโควิด-19 และยังไม่มีใครตอบได้ว่าการระบาดครั้งนี้จะดําเนินไปถึงเมื่อไร ไม่ว่าประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อกี่คน หรือการแพร่ระบาดอยู่ในระดับใดก็ตาม สิ่งที่เราควรทำเพื่อตัวเองและสังคม คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ ระมัดระวังการแพร่และการติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์และไม่มั่นใจว่าเป็นความจริง
โควิดไม่ใช่วิกฤต (สุดท้าย)
อย่างไรก็ตาม Alanna Shaikh ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพโลกพูดอย่างไม่อ้อมค้อมบนเวที TedTalk ที่ TEDxSMU เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020 ในหัวข้อ Corona is Our Future ว่า
“นี่ไม่ใช่โรคระบาดใหญ่ครั้งสุดท้ายที่พวกเราจะต้องเผชิญ จากนี้ไปจะมีโรคระบาดมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ และจะมีการแพร่กระจายอีกมาก นี่ไม่ใช่การประเมินว่า ‘น่าจะเกิด’ แต่มัน ‘ต้องเกิด’ ขึ้นอีกแน่นอน และมันเกิดขึ้นจากวิธีการที่มนุษย์เราปฏิสัมพันธ์กับโลกของเรา”
เพราะฉะนั้นโควิด-19 ที่เราทุกคนต่างหวาดกลัว แท้จริงแล้วเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งก้อนมหึมาใต้ทะเลที่เรามองไม่เห็น และเผลอ ๆ อาจจะเป็นเพียงหนึ่งในภูเขาน้ำแข็งอีกหลายก้อนที่รออยู่ข้างหน้าด้วยซ้ำ ซึ่งจะนำพาความเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตอื่น ๆ มาอีกในอนาคต แทนที่เราจะหวาดผวาด้วยความสิ้นหวังและชวนคนรอบตัวหมดหวังไปพร้อมกัน เราทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจรับมือ และเปลี่ยนโรคร้ายให้กลายเป็นโลกที่ดี
โอกาสในวิกฤต
พิจารณาความเปราะบางของชีวิต
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติภัยขึ้นในโลก สัญชาตญาณดิบของมนุษย์อย่างความกลัว ความเอาตัวรอด ความโลภ ความเห็นแก่ตัวจะโผล่ออกจากที่ซ่อน
ช่วงเวลาของโควิด-19 ก็เช่นกัน ไม่มีใครอยากป่วย อยากตาย อยากพลัดพรากจากคนรัก หรืออยากจ่ายเงินรักษาราคาแพง เลยต่างพากันหวาดระแวงไปตาม ๆ กัน จิตปรุงแต่งจากความรักตัวกลัวตายนี้ไม่นำไปสู่ผลดีใด ๆ เลย รังแต่จะสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้ตัวเอง ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ไม่จบสิ้น
ช่วงภาวะเช่นนี้ เมื่อเรามีความรู้สึกปรุงแต่งและเป็นอกุศล เช่น คิดโกรธแค้น “ผีน้อย” หรือ “Super Spreader” ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทางสังคม หรือรุมประณามบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าไม่สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการตั้งสติให้มั่น จับความคิดตัวเองให้ทัน เพื่อพิจารณาจิตที่ปรุงแต่งของเรา และหยุดใช้อารมณ์ แต่ถอยมามองโรคระบาดนี้ด้วยเหตุผลตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง เกิด แก่ เจ็บ ตายถือเป็นธรรมดาของชีวิต
สิ่งที่เราและโลกกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่เรื่องใหม่ สมมติวันหนึ่งเราติดเชื้อไวรัสตัวนี้ขึ้นมา ก็รักษาไปตามกระบวนการของแพทย์ อย่าตื่นตูม เพราะการตื่นตระหนกก็ไม่สามารถช่วยให้เรารอดพ้นจากการติดเชื้อได้ แถมอาจจะทำให้เราล้มป่วยด้วยโรคอื่นด้วยซ้ำ
ในระหว่างที่เรายังไม่ตาย อย่ามัวแต่กลัวตายจนตายทั้งเป็น
ช่วงเวลาแบบนี้ เราควรขอบคุณโควิด-19 ด้วยซ้ำที่มาเตือนสติให้เราดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาท และสะกิดเตือนว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มียังลมหายใจ มีเวลาขัดเกลาจิตใจให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง และยอมรับกฎธรรมชาติ
แม้เมื่อวันหนึ่งที่การระบาดเริ่มเบาบางลงแล้ว ก็อย่าลืมว่า ไม่มีอะไรรับประกันว่าเราจะมีชีวิตอยู่ถึงเมื่อไร การหมั่นพิจารณาความตายที่อาจจะมาถึงวันนี้ พรุ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เราใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่า สะสมความดี สร้างความสุขให้ตัวเองและคนที่เรารัก และสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อสังคม
“โรคระบาดไม่ได้ทำอันตรายเรา เท่าความกลัวโรคระบาด แม้ในช่วงที่มีโรคระบาด ความสุขก็ยังคงมีอยู่รอบตัวเรา จึงขออวยพรให้ทุกคนได้เห็นความสุขท่ามกลางภัยพิบัติที่พวกเรากำลังเผชิญ”
--พระไพศาล วิสาโล
ปรับชีวิตออฟไลน์
ปรากฏการณ์ที่กระทบต่อวิถีชีวิตในวงกว้างเช่นนี้จะสร้าง New Normal หรือวิถีปกติใหม่ ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมา บางครั้งก็เป็นจุดเปลี่ยนที่เกินความคาดหมาย
แต่ไหนแต่ไรมา คนท้องถิ่นในชุมชนแถบแอฟริกาตะวันตกมีธรรมเนียมอาบน้ำและสัมผัสศพด้วยมือเปล่าก่อนฝัง แต่เมื่อโรคอีโบลาระบาดช่วงปี 2013-2016 การสัมผัสสารคัดหลั่งของศพที่เป็นเหยื่อของโรคอีโบลาเป็นสาเหตุให้ไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เมื่อปี 2014 งานศพของเภสัชกรชื่อดังในประเทศเซียร์ราลีโอนเพียงงานเดียวทำให้มีผู้ติดเชื้ออีโบลาถึง 28 คน รัฐบาลไลบีเรียและสหรัฐอเมริกาจึงประกาศบังคับเผาทุกศพที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบลา ส่งผลให้หลายชุมชนยกเลิกการสัมผัสและฝังศพในเวลาต่อมา
ส่วน New Normal ในยุคของโควิด-19 ก็เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว ประเทศตะวันตกเริ่มเปลี่ยนธรรมเนียมการทักทายจากการจับมือ กอด และหอมมาเป็นการแตะข้อศอก การโบกมือ รวมถึงการไหว้แบบคนไทยด้วย
ในทางกลับกัน การปรับพฤติกรรมช่วงนี้ทำให้เกิดขั้วตรงข้ามของ New Normal นั่นคือ การย้อนกลับไปหา Old Normal หรือวิถีชีวิตที่เราคุ้นเคยในอดีต โดยเฉพาะก่อนที่เราจะรู้จักอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนย่อโลกทั้งใบให้อยู่ในมือเรา เราสามารถทำงาน ทำธุระ หาความเพลิดเพลินเกือบทุกอย่างได้อย่างสะดวกสบายและประหยัดเวลามากกว่าที่เคย แต่รู้สึกไหมว่าเราใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งมากขึ้น และมีเวลาว่างน้อยลง
การกักตัวเองอยู่ในบ้านช่วงนี้ทำให้เราได้ใช้ชีวิตช้าลง ให้เวลากับตนเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ กินอาหารโฮมเมด ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ออกกำลังกาย และที่สำคัญ แทนที่จะจมจ่อมอยู่กับข่าวสารและความเครียด ควรจะหากิจกรรมเสริมความสุขในยามว่าง เช่น อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ทำสวน เป็นต้น
ส่วน Old Normal ที่สองอาจจะย้อนอดีตไปไกลแต่ไม่เคยเป็นเรื่องเก่าในสังคมไทย เมื่อ 108 ปีที่แล้ว เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เรียบเรียงหนังสือ “สมบัติของผู้ดี” ขึ้น เพื่อรวบรวมวิธีประพฤติปฏิบัติตนที่เหมาะสมทั้งกาย วาจา ใจ ขึ้น บทที่หนึ่งว่าด้วยผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อยเขียนว่า ผู้ดีย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ประชุมชน ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังโดยไม่ป้องกำบัง ย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งของที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อม ไปล้วงตักสิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง ย่อมระวังไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน ทั้งหมดเป็นคำสอนที่เราได้ยินมาตั้งแต่เล็กจนโต แต่เราอาจหลงลืมไปบ้างตามวัฒนธรรมตะวันตก
หรือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามเหล่านี้เองที่ช่วยให้อัตราการติดเชื้อของไทยชะลอตัวกว่าหลายประเทศทั่วโลก
เปลี่ยนพฤติกรรมออนไลน์
สื่อออนไลน์นับเป็นแหล่งสารสนเทศที่ป้อนความรู้และความบันเทิงให้เราได้ไม่สิ้นสุด คิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก ไม่มีที่ไหนจะสร้างความอุ่นใจได้ดีเท่าโซเชียลมีเดีย
แต่ในช่วงของความระส่ำระสายที่ทุกคนเต็มไปด้วยคำถามและต้องการคำอธิบาย โซเชียลมีเดียกลายเป็นเวทีโต้วาทีสาธารณะที่เต็มไปด้วยการสาดอารมณ์และความคิดเห็นใส่กันจนไม่มีใครฟังใคร ส่วนผู้ชมก็แย่งกันถาม แย่งกันเชียร์และด่าทอ คนพูดยังพูดไม่ทันจบ คนฟังก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ บ้างก็นำไปขยายความต่อเสียแล้ว รู้ตัวอีกที มองไปทางไหนก็มีแต่คนฉุนเฉียว วิตกจริต และจิตตกไปตาม ๆ กัน
การที่เราได้อ่านได้เห็นประทุษวาจา (Hate Speech) และบรรยากาศอันก้าวร้าวเกรี้ยวกราดเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะทำให้เรามองไม่เห็นข้อเท็จจริงและมองหาทางออกไม่ได้ สุดท้ายเราจะไม่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป เพราะความหวังทุกอย่างดับไปแล้ว เป็นภาวะที่เรียกว่า Learned Helplessness หรือ ความสิ้นหวังอันเกิดจากประสบการณ์ชีวิต
ในโมงยามที่สังคมต้องการที่ยึดเหนี่ยว การไตร่ตรองข้อมูลอย่างมีสติ สงวนอารมณ์ลบ แสดงอารมณ์บวกจะช่วยสร้างระบบนิเวศเชิงบวกในโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยกันสร้างพลังบวกในสังคม
#ตระหนักแต่ไม่ตระหนก
#โอกาสติดโควิดหนึ่งเปอร์เซนต์
#โอกาสประสาทแดกร้อยเปอร์เซนต์
ปฏิวัติสังคม
ดาบมีสองคมฉันใด โลกออนไลน์ก็มีทั้งประโยชน์และโทษฉันนั้น
ตั้งแต่โซเชียลมีเดียเปรียบเสมือนเลือดเนื้อและลมหายใจของเราเป็นต้นมา คนเรามีแนวโน้มจะคาดหวังความสนใจ การยอมรับ และคำชื่นชมจากผู้อื่นมากเกินไป ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง เพราะการถ่ายเซลฟี่ การโพสต์รูป ยอดไลก์ ยอดคอมเมนต์จะพาไปในทางที่ผิดและทำให้ผู้ใช้รู้สึกมั่นใจเกินเหตุ รู้สึกราวกับว่าสายตาทุกคู่กำลังจับจ้องและสปอตไลต์กำลังส่องมาที่ตัวเอง
แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 เข้มข้นรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียโพสต์รูปเซลฟี่หรือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่มีการแสดงความเป็นห่วงเป็นใยคนรอบข้าง ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ประเทศชาติ และเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น คนไทยทำคลิปวิดีโอส่งกำลังใจให้หมอและคนไข้ในเมืองอู่ฮั่น โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศรับบริจาคหน้ากากอนามัยและได้รับการสนับสนุุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 หลังจากที่ประชาชนใช้โซเชียลมีเดียเป็นกระบอกเสียงแสดงความคิดเห็นให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดังกล่าว
วิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นชาวแคนาดาในเฟสบุ๊กหลายหมื่นคนรวมตัวกันทำความดีด้วยการมอบมิตรจิตมิตรใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น จ่ายตลาด ทำอาหาร ทำงานบ้าน สอนออกกำลังกายออนไลน์ หรือแม้แต่คุยเป็นเพื่อนคนแก่ กลุ่มลักษณะนี้เกิดขึ้นเร็วเป็นดอกเห็ด และขยายต่อไปอีกหลายประเทศภายในเวลาไม่กี่วัน พวกเขาเรียกกิจกรรมนี้ว่า Caremongering (การปลุกปั่นความเอาใจใส่) เป็นศัพท์ใหม่ที่ผันมาจากคำว่า Scaremongering (การปล่อยข่าวเพื่อปลุกปั่นให้จนคนกลัวหัวหด) เพราะคนจำนวนมากรู้สึกเบื่อหน่ายกับขยะและมลพิษในโลกออนไลน์
สมาชิกหลายคนเข้าร่วมเพราะรู้สึกว่าเครียดจากการอยู่บ้านเฉย ๆ และอยู่อย่างโดดเดี่ยว การได้ออกมาทำสิ่งที่ดี ๆ ให้ผู้อื่น ได้ช่วยคนแก่ที่หงอยเหงาให้สดชื่นขึ้น ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย
อีกหนึ่งวิธีการความสุขจากโลกออนไลน์ถึงคนทั่วโลก คือ #togetherathome คอนเสิร์ตที่แสดงสดผ่านไลฟ์ทางอินสตาแกรมให้แฟน ๆ ทั่วโลกที่ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านได้ชม คริส มาร์ตินเป็นศิลปินคนแรกในโครงการนี้ ตามมาด้วยจอห์น เลเจนด์ และคนดนตรีในต่างประเทศอีกมากมาย
พลิกโฉมเศรษฐกิจ
โควิด-19 ไม่ใช่เพียงวิกฤตทางสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังคืบคลานครอบคลุมหน่วยงานทุกภาคส่วนและมนุษย์ทุกชนชั้น ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ
เมื่อปี 2019 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.7 ล้านคน โดยมีนักท่องเที่ยวจีนมากถึง 11 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงส่งผลให้ธุรกิจโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทยทรุดหนักถึงขั้นวิกฤต ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยเผชิญกับความสาหัสสากรรจ์เท่านี้มาก่อน เนื่องจากช่วงที่โรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2003 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีราว 600,000 คนเท่านั้น
สำหรับธุรกิจต่าง ๆ ที่ชะลอตัว ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการพักจากสนามรบอันดุเดือด กลับมาปรับทัพและฝึกปรือวิทยายุทธ์ที่เราอ่อนหัด เพื่อเตรียมพร้อมลงสนามอีกครั้งหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป สิ่งที่ทำได้ในช่วงนี้เพื่อให้ออกดอกออกผลในระยะยาว คือ การติดตั้งระบบ พัฒนาศักยภาพบุคลากร แก้ไขจุดอ่อนของบริษัท หรือเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ธุรกิจหลายแห่งที่ปิดตัวลงทำให้เกิดปัญหาการว่างงานทุกหย่อมหญ้า การทำงานอิสระตามความถนัดของตนเองและเป็นนายตัวเองจะเป็นทางออกหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นการสร้างงาน สร้างรายได้จากความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญา และศิลปวัฒนธรรมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่สายป่านไม่ยาวพอ
บทเรียนในอดีตมอบความหวังให้เราว่า เมื่อวิกฤตใด ๆ ผ่านพ้นไป วิถีชีวิตและความต้องการผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย นำมาซึ่งปัญหา ความท้าทาย และอุปสรรคที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ผู้บริโภคพร้อมจับจ่ายใช้สอยเช่นเดิม แต่ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการต้องกล้าปรับตัวและบุกเบิกเศรษฐกิจใหม่ ๆ Airbnb และ Uber เป็นตัวอย่างของสตาร์ตอัพที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตซับไพรม์เมื่อ ค.ศ. 2008 ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจแบบเดิม ๆ และเป็นหัวหอกของบริษัทลักษณะเดียวกันอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา
©apps.apple.com
การทำงานทางไกลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้อเป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจที่เราไม่ควรมองข้าม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แอพพลิเคชันประเภทการประชุมผ่านจอ เช่น Zoom, Slack, Google Meets, Microsoft Teams มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า หลายแอพพลิเคชันเปิดให้ใช้ฟรี เพราะมั่นใจว่าลูกค้าจะติดใจและซื้อบริการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เมื่อมีเทคโนโลยีที่ดีรองรับ บริษัทก็ไม่ต้องกังวลเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานที่ลดลง ทั้งยังสามารถลดต้นทุนของสำนักงาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ได้ด้วย ส่วนพนักงานก็ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่ถนนและอากาศก็ได้รับผลพลอยได้จากการจราจรที่เบาบางลง ถือเป็นช่วงทดลองที่น่าตื่นเต้นว่า รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และดีต่อสิ่งแวดล้อมเช่นนี้จะมาทดแทนการทำงานรูปแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมาได้หรือไม่
คืนความสมดุลให้สิ่งแวดล้อม
คนและสัตว์ป่ามีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นนับตั้งแต่สมัยหินเก่าเมื่อ 2.5 ล้านปีมาแล้ว มนุษย์เริ่มพึ่งพาธรรมชาติโดยการล่าสัตว์และหาผลหมากรากไม้ในป่า ต่อมาจึงเริ่มเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารและพาหนะ จนมาวันหนึ่ง มนุษย์เหิมเกริมและพยายามเอาชนะธรรมชาติ เช่น ไล่ล่าสัตว์ป่าจนสูญพันธุ์ ถางป่าจนเกินความพอดี หรือย้ายถิ่นฐานของสัตว์เข้ามาในเมือง เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล มนุษย์จึงเริ่มได้รับความเดือดร้อน
หลายต่อหลายครั้งที่โรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นจากเชื้อโรคในสัตว์ที่ติดต่อมาสู่คน เช่น กาฬโรคจากแบคทีเรียในหนูและหมัดหนู โรคอีโบลาเกิดจากไวรัสอีโบลาที่มีค้างคาวผลไม้เป็นพาหะ ไข้สเปน ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมูมาจากไวรัสอินฟลูเอนซา (เชื้อไข้หวัดใหญ่) เป็นต้น โคโรนาไวรัสที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันสันนิษฐานว่ามาจากค้างคาวมงกุฎที่พบในจีน 2 สายพันธุ์ คือ ค้างคาวเกือกม้า และค้างคาวมงกฎยอดสั้นเล็ก
โรคระบาดเหล่านี้ส่งสัญญาณว่าเรากำลังทำมิดีมิร้ายธรรมชาติ ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปทำให้เชื้อโรคใหม่ ๆ รุกคืบเข้ามาหามนุษย์ได้ง่ายขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ไวรัสและแบคทีเรียเติบโตได้ดี
“การรุกรานของไวรัสสู่มนุษย์จนนำไปสู่การแพร่เชื้อต่อมนุษย์ด้วยกันจะไม่เกิดขึ้นเลย
ตราบใดที่มนุษย์ไม่ไปรุกรานและทำลายระบบนิเวศของสัตว์บางประเภทที่เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือบริโภคสัตว์ป่า เชื้อโรคทั้งหลายก็ไม่สามารถแพร่มาถึงคนได้โดยง่าย ดังนั้นสัตว์จึงไม่ควรถูกโยนบาปว่าเป็นผู้ร้าย แต่ผู้ร้ายตัวจริงควรเป็นมนุษย์เดินดินที่ชอบเรียกตัวเองว่าสัตว์ประเสริฐนั่นเอง”
--พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร
ถึงเวลาแล้วที่เราจะคืนความสมดุลให้ธรรมชาติ
ช่วงโควิด-19 ทำให้เราจำเป็นและจำยอมเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต มาตรการป้องกันตัวเองหลายอย่างทั้งการใส่หน้ากากอนามัยหรือการล้างมือบ่อย ๆ ก็ยังต้องเบียดเบียนธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิธีอื่น ๆ เช่น การกักตัว การปิดสำนักงานชั่วคราว การงดเดินทางไกลหรือเดินทางต่างประเทศ หรือการปิดเมืองนำไปสู่ผลลัพธ์อันน่ายินดี
ภาพถ่ายแผนที่ทางดาวเทียมของนาซาเผยว่า ปริมาณมลภาวะแถบเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปี 2020 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2019 เนื่องจากประเทศจีนออกมาตรการสั่งห้ามการเดินทางและปิดโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งประกาศไม่ให้ประชาชนนับล้านคนเดินทางออกนอกเมือง
ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในมณฑลชานตงก็ลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากผลิตถ่านหินและกลั่นน้ำมันลดลง
องค์การอวกาศยุโรปเผยภาพถ่ายดาวเทียมของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในอิตาลี ว่าปริมาณก็าซไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเดือนมีนาคมที่มีการปิดเมืองหลายแห่งจนกระทั่งปิดประเทศเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2020
น้ำในคลองเวนิสสะอาดและใสแจ๋วเหมือนกระจกจากการฟื้นตัวตามธรรมชาติ
การลดการปล่อยมลภาวะต่าง ๆ และการเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้พักและเยียวยาตัวเองเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่เราได้มอบให้กับโลกในช่วงนี้
แบบทดสอบของเธอ เขา หรือเราทั้งประเทศ
ในการทดสอบครั้งใด ๆ สิ่งที่สำคัญกว่าความสำเร็จหรือความผิดพลาด คือ การเรียนรู้จากบทเรียนครั้งนั้น
เราได้เห็นและเรียนรู้หลายบทเรียนจากความสำเร็จของประเทศจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเก๊า และญี่ปุ่นในการรับมือกับไวรัสร้ายแห่งปี 2019 แต่ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์
ประเทศเหล่านั้นโชคดีที่เคยเผชิญวิกฤตสารพัน เช่น ภัยพิบัติ ภาวะสงคราม หรือโรคระบาด บ่อยกว่าประเทศไทย
ประเทศเหล่านั้นโชคดีที่คนในชาติเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเมื่อเผชิญวิกฤต
ประเทศเหล่านั้นโชคดีที่แข็งแกร่งขึ้นจากประสบการณ์เหล่านั้น
ประเทศไทยอาจจะโชคดีเกินไปที่ไม่ต้องเจอแบบทดสอบมากเท่าเขา และประเทศไทยอาจจะโชคร้ายสักหน่อยที่ “อ่อนซ้อม” มานาน เพราะเราอยู่ในสภาวะที่สุขสบายเกินไป ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ภูมิประเทศปลอดจากภัยพิบัติ ความสบาย ๆ แบบไทย ๆ นี่เองทำให้เราตั้งตัวไม่ติด เมื่อเจอแบบทดสอบอันหนักหน่วงอย่างโควิด-19
ในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่ รัฐบาลไทยสอบตกในภารกิจคุ้มครองประชาชนอย่างหลุดลุ่ย ถ้าเราลองหยุดประเมินผู้อื่นสักพัก หยุดชี้นิ้ว หยุดวิพากษ์วิจารณ์ภายนอก และหันกลับมาสำรวจภายในว่า เราสอบผ่านภารกิจภูมิคุ้มกันทางใจหรือยัง
คําว่า Resilience มีรากศัพท์จากภาษาละตินว่า Resilire ที่แปลว่า กระโดดกลับมาที่เดิม การมีภูมิคุ้มกันทางใจ (Resilience Quotient) จึงหมายถึง การรับมือกับปัญหาและความท้าทายด้วยสติ ก้าวข้ามความทุกข์ได้ และกลับมาดําเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง และแข็งแกร่งกว่าเดิม ภูมิคุ้มกันทางใจมีผู้ช่วยที่ชื่อว่า Growth Mindset (กรอบความคิดแบบเติบโต) เป็นชุดความคิดของคนที่รู้จักมองตัวเองจนเข้าใจจุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเองดี กล้าลองผิดลองถูก มองความท้าทายและปัญหาไม่ใช่อุปสรรค หากล้มเหลว จะไม่กล่าวโทษผู้อื่น แต่จะยอมรับข้อบกพร่อง และมองว่าเป็นบทเรียนล้ำค่าในการพัฒนาตัวเอง
ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เราจะปล่อยให้โควิด-19 ฆ่าเราให้ตาย หรือจะจับมือเพื่อเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน
...What Doesn’t Kill Us Makes Us Stronger.
เกี่ยวกับผู้เขียน |
ที่มาภาพเปิด : Joshua Reddekopp/Unsplash