แม้กระแสข่าวกระเป๋าบาเลนเซียกา บาซาร์ (Balenciaga Bazaar) ราคาหลายหมื่นบาทที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกระเป๋าโบ๊เบ๊ของไทยซึ่งขายกันในราคาไม่กี่บาทจะสร่างซาไปเนิ่นนาน แต่แท้จริงแล้ว มันยังคงทำรายได้ให้กับแบรนด์บาเลนเซียกา ผู้นำความแปลกตาข้ามวัฒนธรรมมาขายของแบบได้ราคาในอีกหลายคอลเล็กชันที่ชื่อว่าบาซาร์นี้
ประวัติศาสตร์บอกเราว่าความแปลกตาที่เรียกว่า Exotic นี้ขายได้เสมอ ซี่งก็ไม่แปลกแต่อย่างใด ในยุคแห่งการสำรวจ (ศตวรรษที่ 15-18) ชายชาวยุโรปผู้มีอันจะกินถึงกับมี 'ตู้ของแปลก' เพื่อสะสมของจากทั่วโลกเอาไว้อวดกัน
ศิลปินระดับตำนานชาวดัตช์อย่างแร็มบรันต์ไม่เพียงมีตู้ของแปลก แต่เขาถึงกับมี 'ห้องของแปลก' เป็นของตนเอง อันหมายถึงห้องเก็บรวบรวมของหายากจากแดนไกล ไม่ว่าจะเป็นกระดูกปลา ซากสัตว์ ปะการัง ไปจนถึงอาวุธหน้าตาแปลกประหลาด ซึ่งใช้ฝึกฝีมือการวาดภาพทั้งสำหรับตัวเขาและลูกศิษย์
เมื่อของที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกลายเป็นของแปลกตาสำหรับคนอื่น นั่นอาจหมายถึงโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่ ซึ่งอาจโดนใจคนจำนวนไม่น้อยได้เลย
ลอก
ในวันที่หลานชายของเขาถือกำเนิด แวนโก๊ะห์ ศิลปินชาวดัตช์รุ่นหลัง แร็มบรันต์ ได้มอบของขวัญชิ้นหนึ่งให้กับหลานชายผู้มีชื่อต้นว่าวินเซนต์เช่นเดียวกับเขา
มันคือภาพ Almond Blossom (1888) ที่แวนโก๊ะห์วาดขึ้นเอง โดยเป็นภาพกิ่งอัลมอนด์ประดับดอกสีขาวบนพื้นหลังสีฟ้า นอกเหนือจากการจดจำว่าเขาวาดภาพนี้รับขวัญหลานชายเพื่อสื่อถึงการเกิดใหม่และเบ่งบาน เรายังจดจำภาพนี้ในฐานะผลงานของแวนโก๊ะห์ที่ได้รับอิทธิพลจากงานภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นด้วย โดยเฉพาะจากการวางตำแหน่งภาพกิ่งอัลมอนด์ในแบบโคลสอัพ และจากเส้นหนักๆ ที่วาดเป็นกิ่งไม้
มันเป็นองค์ประกอบภาพที่ต่างออกไปจากงานยุคก่อนหน้าของเขา
เป็นที่รู้กันดีว่า แวนโก๊ะห์นั้นหลงใหลได้ปลื้มญี่ปุ่น โดยเฉพาะงานภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เขาเองคือนักสะสมตัวยงของงานศิลปะราคาถูกที่ขายในญี่ปุ่นด้วยราคาโซบะหนึ่งถึงสองชาม และขายในปารีสด้วยราคาเท่ากับเครื่องดื่มก่อนอาหารเพียงหนึ่งแก้วชนิดนี้
แน่นอนว่ามันส่งอิทธิพลต่องานในยุคหลังของเขา ความหลงใหลต่องานศิลปะชนิดนี้ของญี่ปุ่น ทำให้เขาหัดลอกเลียนภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะงานของศิลปินเบอร์ต้นๆ อย่างอุตะงะวะ ฮิโระฌิเงะ ต้นอัลมอนด์ของเขาอาจได้รับอิทธิพลจากการลอกภาพต้นบ๊วยของฮิโระฌิเงะนั่นเอง
ในความเป็นจริง ความหลงใหลได้ปลื้มต่องานศิลปะญี่ปุ่นของแวนโก๊ะห์ออกจะช้าไปด้วยซ้ำ เมื่อคิดว่ากระแส “นิยมญี่ปุ่น” ในยุโรปโดยเฉพาะในฝรั่งเศสนั้นเริ่มขึ้นมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 อันเป็นผลพวงจากการเปิดประเทศของญี่ปุ่นหลังจากโดดเดี่ยวตัวเองมากว่าสองร้อยปี และสินค้าส่งออกซึ่งเป็นที่โปรดปราดของตลาดยุโรป ก็คืองานกระเบื้องเคลือบ เครื่องเขิน พัด ร่ม ของประดับตกแต่งต่างๆ
ขณะเดียวกัน ศิลปินก็ชื่นชอบที่จะเก็บสะสมงานภาพพิมพ์แกะไม้ ซึ่งเป็นศิลปะราคาถูกที่ตอบสนองตลาดมวลชนและเป็นสัญลักษณ์ของยุคเอโดะในญี่ปุ่น ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์รุ่นพี่อย่างโมเนต์ก็เป็นนักสะสมภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่นเช่นกัน คำว่า Japonisme ในภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึงความนิยมญี่ปุ่นนั้นใช้กันอย่างแพร่หลายมาก่อนหน้าแวนโก๊ะห์จะกลายมาเป็นศิลปินที่มีคนรู้จัก ไม่ต้องสงสัยว่ามันจะมีอิทธิพลต่องานศิลปะของยุโรปในยุคนั้นอย่างไร
แต่สำหรับแวนโก๊ะห์ เขาไม่ได้ใส่ใจงานจากญี่ปุ่นเท่าไรนักในตอนแรก มีศิลปินในเนเธอร์แลนด์ไม่กี่คนที่สนใจมัน ต่างจากปารีสที่ตื่นเต้นกับงานจากแดนไกลนี้ จนเมื่อตั้งใจจะทำให้งานทันสมัยขึ้นนั่นเองที่แวนโก๊ะห์เริ่มหันมาให้ความสนใจกับงานภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น ก่อนจะหลงใหลทั้งงานศิลปะญี่ปุ่นและความเป็นญี่ปุ่นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการใช้เส้นขอบหนาๆ กับการลงสีแบบง่ายๆ
นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่เชี่ยวชาญด้านงานของแวนโก๊ะห์ยังเพิ่งตั้งสมมติฐานเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยว่า ผลงาน ราตรีประดับดาว (1889) ของแวนโก๊ะห์ อาจได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากภาพคลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ (ระหว่าง 1829-33) ของคัทสึฌิคะ โฮะคุไซ
ไม่แน่ว่าเส้นหนาแบบที่แวนโก๊ะห์ใช้อาจส่งอิทธิพลต่องานของศิลปินรุ่นหลังอย่างปาโบล ปิกัสโซ เช่นกัน
เรียน
หากแวนโก๊ะห์ได้รับแรงบันดาลใจจากงานภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น ในทางกลับกันศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพพิมพ์แกะไม้ที่ทิ้งผลงานคลื่นยักษ์ฯ เอาไว้อย่างโฮะคุไซ ก็รับอิทธิพลจากยุโรปมาใช้สร้างงานของตนเอง
แม้งานส่วนใหญ่ของโฮะคุไซซึ่งรวมถึงภาพคลื่นยักษ์ฯ จะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในวันที่ญี่ปุ่นยังปิดประเทศ แต่ศิลปะของยุโรปโดยเฉพาะของดัตช์ซึ่งเป็นชาติเดียวที่ญี่ปุ่นยอมค้าขายด้วยในเวลานั้นก็มาถึงโฮะคุไซอย่างไม่ต้องสงสัย อิทธิพลของศิลปะดัตช์สามารถพบเห็นได้ในงานของโฮะคุไซ ผ่านการใช้เส้นระดับสายตาที่ค่อนข้างต่ำ และที่สำคัญคือการใช้สีน้ำเงินเข้มจัดที่ญี่ปุ่นไม่มี นั่นคือ สีน้ำเงินปรัสเซีย ซึ่งญี่ปุ่นอาจนำเข้าจากชาวดัตช์ หรือไม่ก็ผ่านทางชาวจีนอีกที
นั่นทำให้เราสืบสาวไปได้ว่า โฮะคุไซเคยใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตศึกษางานภาพเขียนแบบยุโรป และงานคลื่นยักษ์ฯ ของเขาก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการผสมของเทคโนโลยียุโรปเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกแบบญี่ปุ่น
ดังนั้น คงไม่ผิดหากจะบอกว่าก่อนที่งานภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่นจะส่งอิทธิพลต่องานอิมเพรสชั่นนิสม์ของยุโรป อาจเป็นงานศิลปะยุโรปที่เปิดมุมมองใหม่ให้ศิลปินญี่ปุ่นสร้างสรรค์ผลงานที่ญี่ปุ่นก็ไม่เคยมีมาก่อนอีกที
ญี่ปุ่นไม่เพียงรับศิลปะจากยุโรป เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ (1868-1912) ญี่ปุ่นก็เปิดประตูรับความทันสมัยจากโลกตะวันตกในแทบทุกด้าน เพื่อชดเชยเวลาที่สูญหายไปในระหว่างปิดประเทศ โดยมียุทธศาสตร์การเข้าสู่ความเป็นอารยะทัดเทียมตะวันตกที่เรียกว่า บุงเม ไคคะ (Bunmei Kaika) เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ
โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นหัวใจสำคัญในการรับเอาความคิด ความรู้ และวิทยาการจากตะวันตกอย่างเป็นรูปแบบและรวดเร็วที่สุด เดิมทีญี่ปุ่นซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากจีนนั้นเป็นสังคมใฝ่รู้อยู่แล้ว เมื่อมีต้นแบบการศึกษาที่เป็นระบบจากตะวันตก ญี่ปุ่นจึงพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่เข้าถึงได้สำหรับเด็กญี่ปุ่นทั้งหมด ในปี 1875 มีการเปิดโรงเรียนประถมขึ้นถึง 25,000 แห่งทั่วประเทศ เมื่อถึงปี 1895 ญี่ปุ่นก็มีอัตราการเข้าเรียนชั้นประถมสูงถึงร้อยละ 98
พร้อมการแปลหนังสือจำนวนมากเพื่อส่งต่อความรู้ในวงกว้าง ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน
ไม่แปลกที่โลกได้เห็นญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในช่วงสี่ทศวรรษหลังการปฏิรูปเมจิ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม สาธารณสุข ระบบการเงิน การคมนาคม และแน่นอนว่ารวมถึงระบบการเมืองที่เริ่มจัดให้มีการเลือกตั้ง แม้อำนาจส่วนใหญ่จะยังอยู่ในมือของเหล่าขุนนางก็ตาม
เบซิล ฮอลล์ แชมเบอร์เลน ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นชาวอังกฤษที่ประกอบอาชีพสอนหนังสืออยู่ ณ มหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียลในยุคนั้น ถึงกับกล่าวว่าคนที่ได้เห็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ญี่ปุ่นสมัยใหม่ จะทำให้คนผู้นั้นรู้สึกแก่ขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะแม้เมื่อเขาผู้นั้นก้าวสู่ยุคใหม่แล้ว ก็อาจยังระลึกถึงยุคกลาง (Middle Ages) ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานได้อย่างแจ่มชัด
สร้างขึ้นใหม่
อาหารเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องใด ทั้งยังเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์น่าสนใจในการนำพาญี่ปุ่นเข้าสู่ความเป็นอารยะ โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง และทำให้สังคมญี่ปุ่นแข็งแกร่งขึ้น
ตามความเชื่อทางศาสนา เดิมทีคนญี่ปุ่นบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณน้อยมาก แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ บวกกับการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ก็ทำให้เนื้อสัตว์รวมถึงนมกลายเป็นอาหารของคนญี่ปุ่นไปในที่สุด
ไม่เพียงรับเอาความคิดด้านโภชนาการจากตะวันตก รวมถึงเปลี่ยนนิสัยให้รับของตะวันตก แต่ญี่ปุ่นยังพัฒนาของที่รับมาจนดีกว่า อย่างการพัฒนาสายพันธุ์มันฝรั่งจนได้มันฝรั่งรสชาติอร่อยกว่าที่ฝรั่งปลูก หรือไม่อย่างนั้นก็พัฒนาจนดีที่สุด อย่างเนื้อวากิวที่ถือว่าเป็นเนื้อที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นชาติแรกในเอเชียที่พัฒนาจนทัดเทียมประเทศตะวันตก แต่ด้วยนิสัยการรับของชาวบ้านแล้วสร้างใหม่ให้เป็นของตน บวกกับภาพลักษณ์สังคมที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสูงมาก บางครั้งเราจึงลืมมองไปเหมือนกันว่าญี่ปุ่นคือสังคมที่มีความเป็นตะวันตกซ่อนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อาหารฝรั่งเศสในแบบที่แม้แต่คนฝรั่งเศสเองยังไม่เข้าใจ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจวิถีการรับของคนอื่นมาสร้างใหม่เป็นของคนญี่ปุ่นได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง
เพราะเหตุใดคนญี่ปุ่นจึงใส่มายองเนสในอาหารตะวันตกแทบทุกอย่างที่พวกเขาทำ ไปจนถึงใช้มันกับอาหารญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหรือหวาน รู้ตัวอีกทีมายองเนสก็เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารประจำครัวญี่ปุ่นไปเรียบร้อย
ไม่ว่าจะเป็นเฟรนช์โทสต์ โอะโคะโนะมิยะกิ (พิซซ่าญี่ปุ่น) หรือแม้กระทั่งอาหารหวานอย่างเค้ก
เรื่องน่ารักก็คือ ในวันที่โทะอิชิโระ นะคะฌิมะ เริ่มธุรกิจมายองเนส 'คิวพี' ในปี 1925 นั้น คือช่วงที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับโภชนาการในฐานะปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ นะคะฌิมะเล็งเห็นว่ามายองเนสซึ่งเต็มไปด้วยสารอาหารนั้นจะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรงและ 'สูง' แบบชาวตะวันตก เขาจึงพัฒนาสูตรมายองเนสโดยใช้เฉพาะไข่แดง และใช้เป็นสองเท่าของสูตรตะวันตก ใช้น้ำส้มสายชูหมักแทนน้ำส้มสายชูกลั่น และใส่ส่วนผสมพิเศษซึ่งเป็นของญี่ปุ่นแท้ๆ อย่างผงชูรสเข้าไปด้วย นั่นหมายความว่ามายองเนสคิวพีนั้นทั้งเข้มข้นกว่าและอุมะมิกว่าด้วย
©Libby McGuire
เช่นเดียวกับกรณีเนื้อสัตว์ แต่เดิมคนญี่ปุ่นไม่ค่อยกินผักสด ดังนั้นการกินมายองเนสเป็นน้ำสลัดจึงยังเป็นเรื่องไกลตัว สิ่งที่คิวพีทำก็คือแนะนำสินค้าใหม่นี้ในฐานะซอสสำหรับอาหารดั้งเดิมที่รับประทานกันอยู่ เมื่อไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว มันจึงอยู่ในอะไรก็ได้ และอยู่ในอาหารมื้อไหนก็ได้เช่นกัน นี่อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดในปัจจุบันเราจึงเจอมายองเนสในพิซซ่า หรืออาหารใดก็ตามในญี่ปุ่น โดยเฉพาะโอะโคะโนะมิยะกิที่เต็มไปด้วยมายองเนสและได้รับความนิยมอย่างมากนั่นเอง
ในปัจจุบันที่อาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามายองเนสโดยเฉพาะแบรนด์คิวพีของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่จดจำด้วยโลโก้เบบี้ดอลล์นั้นจะทำยอดขายถล่มทลายเพียงใด
ไปให้สุด
ก่อนโลกจะมีวัฒนธรรมกาแฟที่กลายเป็นอุตสาหกรรมทำเงินมหาศาสอย่างทุกวันนี้ มันเริ่มมาจากเรื่องไม่ค่อยดีงามตามศีลธรรมสักเท่าไรอย่างการลักลอบนำเมล็ดกาแฟซึ่งชาวอาหรับหวงแหนออกจากตะวันออกกลาง ก่อนที่ชาวดัตช์จะนำมันมาเพาะพันธุ์จนสำเร็จในอีกหลายสิบปีให้หลัง จนสามารถนำไปเพาะปลูกเป็นล่ำเป็นสันในพื้นที่อาณานิคมทางตะวันออกไกลและทวีปอเมริกา ซึ่งกลายเป็นแหล่งป้อนกาแฟรายใหญ่ให้กับตลาดยุโรปในเวลาต่อมา
เราต่างรู้กันดีว่าก่อนที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม พวกเขาก้มหน้าแกะเทคโนโลยีตะวันตกมาก่อน เรื่องดีก็คือ ญี่ปุ่นไม่เพียงแกะเทคโนโลยีเพื่อให้ทำได้อย่างต้นแบบ แต่ด้วยวัฒนธรรมที่ปรารถนาความเป็นเลิศ จึงต่อยอดด้วยคำถามว่าจะทำให้ดีกว่าได้อย่างไรด้วย
เกาหลีใต้ก็เคยผ่านช่วงเวลานี้มาเช่นกัน และล่าสุดก็คือจีน ไม่ว่าจะเป็นการแกะเทคโนโลยี หรือแกะรสนิยม ซึ่งนั่นอาจเริ่มจากการก็อปปี้มาเสียดื้อๆ
นอกจากแบรนด์ก็อปปี้ที่เราล้วนแล้วแต่เคยผ่านตากันมาไม่มากก็น้อยอย่าง Adidos, Adadas, Adadis, Odidas, Nake, Owega, King Burger, Anmani, Paradi ไปจนถึง Pearlboy หลายคนอาจมองเป็นเรื่องขำขันเมื่อได้เห็นภาพหอไอเฟลในเมืองของจีนที่แชร์กันให้ว่อน แต่จะว่าไปเราไม่อาจสบประมาทความตั้งอกตั้งใจคัดลอกอย่างจริงจัง พวกเขาไม่ได้สร้างเฉพาะหอไอเฟล แต่ในพื้นที่ 12 ตารางไมล์ของโครงการที่อยู่อาศัย “เทียนตูเฉิง” ในแถบชานเมืองหางโจวนี้ยังมีถนนฌ็องเซลิเซ่ และบ้านเรือนที่สร้างในแบบอพาร์ตเมนต์บนถนนฌ็องเซลีเซ่ของปารีส ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยหลักหมื่นคน
และเป็นฉากหลังให้กับการถ่ายรูปพรีเวดดิ้งไม่ต่างจากหอไอเฟลต้นตำรับ
นอกจากปารีสในหางโจว ยังมี “เธมส์ทาวน์” ชานเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่สร้างขึ้นในสไตล์เมืองเก่าของอังกฤษ ประกอบด้วยอาคารบ้านเรือนในแบบทิวดอร์ โบสถ์อังกฤษ ผับ กับถนนปูด้วยหินก้อนใหญ่ในแบบเมืองเก่า แถมด้วยตู้โทรศัพท์สีแดงและรูปปั้นสำริดของเจมส์ บอนด์ โดยโครงการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในโครงการอสังหาริมทรัพย์สไตล์ยุโรปของเซี่ยงไฮ้ ที่สร้างขึ้นเพื่อกระจายความหนาแน่นประชากร นอกจากเธมส์ทาวน์แล้วก็มีเมืองอย่าง “ฮอลแลนด์ทาวน์” เป็นต้น
ยังไม่หมด…ไม่มีทางเลยที่จีนจะลืมเมืองยุโรปเปี่ยมเอกลักษณ์อย่างเวนิสไปได้ ออกจากเซี่ยงไฮ้ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนยังเมืองต้าเหลียน ก็จะพบ “เวนิสทาวน์” ที่ประกอบด้วยคลองขุดความยาวสี่กิโลเมตร เรียงรายด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์เวนิสตลอดความยาว และแน่นอนต้องมีจุดขายอย่างเรือกอนโดล่าด้วย
จะไล่เรียงไปเรื่อยๆ ก็ได้แต่คงไม่จบสิ้น เอาเป็นว่านอกจากรายการที่กล่าวมาก็ยังมีอีกหลายเมืองของยุโรปที่เราจะนึกออก (หรือที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวจีนจะนึกออก…ไม่เว้นแม้แต่เมืองมรดกโลกริมทะเลสาบที่หลายคนหลงรักอย่างฮัลล์สตัทท์ในออสเตรีย หรือสถาปัตยกรรมสไตล์เบาเฮาส์จากเยอรมนี) รวมๆ แล้วมันก็สนุกดีเหมือนกัน
ประเด็นอยู่ที่ว่าเราไม่อาจมองเป็นเพียงการก็อปปี้ทีละโครงการ แต่เบียงกา บอสเกอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ Original Copies: Architectural Mimicry in contemporary China ให้เหตุผลไว้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้อาจเป็นรูปแบบการพัฒนา “ความเชี่ยวชาญ” ในวัฒนธรรมจีนต่างหาก
และนั่นทำให้เราต้องย้อนกลับไปศึกษาเรื่องราวของเมืองที่เคยมีภาพลักษณ์ก็อปปี้ตัวพ่อ ที่ตั้งขึ้นพร้อมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีนอย่างเมืองเซินเจิ้น
©Unsplash/Brenda Tong
ด้วยความที่อยู่ติดกับฮ่องกง เซินเจิ้นจึงถูกวางให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดึงดูดเงินลงทุนจากภายนอก เริ่มจากเป็นฐานการผลิตสำหรับธุรกิจในฮ่องกง และฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ จนได้รับการเปรียบให้เป็นโรงงานของโลก การผลิตที่ว่านี้ไม่เฉพาะผลิตภัณฑ์ แต่ที่สำคัญคือบรรจุภัณฑ์ นำมาสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมการออกแบบกราฟิกในที่สุด
ไม่มีอะไรอยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป เช่นเดียวกับไม่มีใครนั่งลอกของชาวบ้านเพียงอย่างเดียว รู้ตัวอีกที เซินเจิ้นก็ได้รับเลือกจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งการออกแบบ โดยเฉพาะงานออกแบบกราฟิกที่ไม่เป็นสองรองใคร การมีงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก หมายถึงโอกาสในการฝึกฝนทักษะและต่อยอดงานใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี จากการเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งใหญ่ของโลก รู้ตัวอีกที เซินเจิ้นก็กลายเป็นที่ตั้งศูนย์วิจัยพัฒนา และบ้านของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รวมถึงหัวเว่ยและเท็นเซ็นต์
และที่สำคัญคือจีดีพีของเมืองเซินเจิ้นกำลังจะแซงหน้าฮ่องกง ที่เคยมองเมืองแห่งนี้เป็นหมู่บ้านชายแดน-แหล่งผลิตต้นทุนต่ำของพวกเขา หากย้อนหลังไป 40 ปี เซินเจิ้นยังเพิ่งจะยกระดับจากหมู่บ้านเป็นเมือง หรือหากย้อนหลังไปเพียง 10 ปี ผลิตผลของเซินเจิ้นราวร้อยละ 90 ก็ยังเป็นของลอกเลียนแบบอยู่เลย
แต่ในปัจจุบัน เซินเจิ้นกลายเป็นเมืองที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่แปลกที่เมืองแห่งนี้จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝัน และต้องการใช้ความได้เปรียบของการเป็นซัพพลายเชนทางเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนความฝันของพวกเขาให้เป็นจริง
มากไปกว่านั้น ศักยภาพทางเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมจะดึงดูดผู้คนที่เต็มไปด้วยศักยภาพในการสร้างสรรค์ให้เข้ามาอยู่ และผู้คนเหล่านั้นจะบริโภควัฒนธรรม ไม่แปลกที่โรงแรมมูจิแห่งแรกจะเปิดตัวในเซินเจิ้นแทนที่จะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หรือแม้แต่โตเกียว และไม่แปลกที่พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต (V&A) จะเลือกเปิดสาขานอกอังกฤษในเซินเจิ้นเป็นที่แรก
จากที่ต้องก้มหน้ารับเสียงแขวะของชาวบ้านว่าเป็นเจ้าพ่อของก็อป นาทีนี้จึงไม่มีใครจะเชิดหน้าได้มากกว่าเซินเจิ้นอีกแล้ว
“ศิลปินที่ดีคัดลอก ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย” ปาโบล ปิกัสโซ เคยกล่าวไว้อย่างนั้น
บางที ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอาจเป็นคนรู้ว่าจะหว่านเมล็ดพันธุ์ของคนอื่นบนแปลงของตนเองอย่างไร ไม่ต่างจากชาวดัตช์ที่เรียนรู้จะปลูกกาแฟที่พวกเขาได้มา และเก็บกินดอกผลไม่รู้จบจากการพาโลกทั้งใบเข้าสู่วัฒนธรรมกาแฟ
และไม่ต่างจากเซินเจิ้นที่หัวเราะทีหลังดังกว่าใคร
ที่มา :
บทความ Van Gogh and Japan: the prints that shaped the artist โดย Alastair Sooke, BBC, 11 มิถุนายน 2018
บทความ How Hokusai's Great Wave crashed into Van Gogh's Starry Night โดย Mark Brown, The Guardian, 28 กันยายน 2018
บทความ Hokusai, Under the Wave off Kanagawa (The Great Wave) โดย Leila Anne Harris, Khan Academy, ไม่ระบุวันที่
บทความ Early Westernization & Modernization in Japan 1868-1900, Japan Visitor, ไม่ระบุวันที่
บทความ Why not just add a dollop of mayonnaise? โดย Makiko Itoh, The Japan Times, 22 มีนาคม 2013
บทความ Welcome to Venice, China: Dalian copies canals, palaces … and gondoliers โดย Nick Van Mead, The Guardian, 22 ตุลาคม 2014
บทความ Duplitecture: China’s Best Copycat Towns โดย Matthew Keegan, Culture Trip, 12 ตุลาคม 2018
บทความ Inside China's Silicon Valley: From copycats to innovation โดย Matt Rivers, CNN, 23 พฤศจิกายน 2018
เว็บไซต์ Facts and Details, History of Education in Japan
เว็บไซต์ Van Gogh Museum Amsterdam
เว็บไซต์ Pablo Picasso
หนังสือ Cool Japan Vol.2 ความงาม ความฝัน การแบ่งกั้น โลกแห่งความล่องลอย โดย Little Thoughts, กันยายน 2558
เรื่อง : Little Thoughts