Maker เมื่อนักออกแบบลงมือทำเอง
ในวงการออกแบบ ความต้องการที่จะเป็นปัจเจกของผู้คนในยุคปัจจุบัน อาจทำให้เกิดความพยายามที่จะคิดค้นวิธีการแสดงออกใหม่ๆ ที่แตกต่าง หลังจากต้องทนเบื่อหน่ายจากการถูกบังคับให้เหมือนหรือซ้ำกับคนจำนวนมากในยุคที่การผลิตแบบอุตสาหกรรมรุ่งเรือง วิธีการหนึ่งที่จะช่วยตอบสนองความต้องการนี้ก็คือการสร้างสรรค์มันขึ้นเองด้วยมือ เพื่อใส่รายละเอียดลงในเนื้องานที่สามารถบ่งบอกตัวตนอันไม่ซ้ำแบบใครออกไปให้โลกเห็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเกิดขึ้นของดีไซเนอร์/เมคเกอร์ โมเดลทางธุรกิจใหม่ที่คนรักงานออกแบบและงานช่างไม่น่ามองข้าม การเกิดขึ้นของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ดีไซเนอร์/เมคเกอร์ (Maker)” นี้ แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ กลุ่มดีไซเนอร์ ผู้ต้องการสร้างทางเลือกในงานออกแบบของตน และใส่ใจในรายละเอียดของการออกแบบลงไปถึงกระบวนการการผลิต พวกเขาเหล่านี้หันมาเรียนรู้เทคนิคเชิงช่างและลงมือผลิตชิ้นงานด้วยตนเอง อีกกลุ่มหนึ่งคือ ดีไซเนอร์/เมคเกอร์ที่เรียนรู้การผลิตชิ้นงานเองควบคู่กับการออกแบบมาตั้งแต่ต้น วิธีการทำงานแบบดีไซเนอร์/เมคเกอร์ อาจมีข้อจำกัดเรื่องการบริหารเวลากับปริมาณการผลิต เพราะกินเวลามากกว่าการผลิตในระบบอุตสาหกรรม แต่ก็ส่งผลให้งานของพวกเขามีความโดดเด่นและแตกต่าง การลงมือผลิตเองอาจกลายเป็นจุดขาย และสามารถเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ต้องคำนึงถึงยอดสั่งผลิตขั้นต่ำของโรงงาน
    
ปี 2010 ในงาน Stockholm Furniture Fair งานระดับนานาชาติที่รวบรวมเฟอร์นิเจอร์ไว้มากมาย ได้สร้างความแตกต่างแบบใหม่ไปจากเฟอร์นิเจอร์แฟร์ใหญ่ๆ งานอื่น ที่เห็นได้ชัดคือเป็นแฟร์ที่มีบรรยากาศของงานคราฟต์อบอวลไปทั่วงาน และมีนักออกแบบหลายคนที่เข้าข่ายเมคเกอร์อยู่มากหน้าหลายตา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสวีเดนจัดเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการเรียนการสอนงานคราฟต์อย่างมาก ตัวอย่างของโรงเรียนฝึกงานช่างแห่งหนึ่งที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือสร้างชิ้นงานด้วยตนเอง คือ Capellagården โรงเรียนที่อยู่ในเมืองเล็กๆ อันห่างไกลบนเกาะทางใต้ของสวีเดน ทว่ามีชื่อเสียงโด่งดังและมีนักเรียนมาจากหลายประเทศ ก่อตั้งโดยนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังชาวสวีเดน คาร์ล มาล์มสเตน (Carl Malmsten) ด้วยความเชื่อในงานออกแบบที่มีทั้งความงามและประโยชน์ใช้สอย หลักสูตรงานช่างที่เปิดสอนที่นี่จึงมีทั้ง งานไม้ เซรามิก สิ่งทอ และการทำเกษตรอินทรีย์ ผลงานอันน่าทึ่งที่แสดงถึงความพิถีพิถันของคาร์ลเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า การฝึกฝนฝีมือเชิงช่างนั้นช่วยยกระดับงานออกแบบได้มากเพียงใด
    
ในบ้านเรา ดีไซเนอร์ที่ผันตัวไปเป็นเมคเกอร์นั้นเริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว อย่าง จุฑามาส บูรณะเจตน์ และปิติ อัมระรงค์ นักออกแบบในนาม o-d-a ผู้เริ่มต้นด้วยงานออกแบบกราฟิก ออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หลายครั้งที่เฟอร์นิเจอร์ของ o-d-a ได้เข้าไปยืนอยู่บนเวทีการประกวดระดับนานาชาติอย่างน่าภาคภูมิใจ แต่ทั้งคู่มิได้พอใจผลงานของตนอยู่เพียงเท่านั้น หากหันมาเริ่มฝึกฝนงานไม้อย่างจริงจัง เพื่อทำความเข้าใจกับวัสดุและเทคนิคต่างๆ ในงานไม้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนางานออกแบบของพวกเขาให้มีความลุ่มลึกยิ่งขึ้น
 
craftnow5.jpg
© facebook.com/GIMM-EYEWEAR-920744997963720
   
อีกตัวอย่างหนึ่งของดีไซเนอร์/เมคเกอร์ คนไทยคือ ไชยวัฒน์ วัฒนานุกิจ ที่เลือกจับงานออกแบบและทำแว่นตาสำหรับผู้ที่ต้องการความแตกต่าง ภายใต้ชื่อ GIMM EYEWEAR ที่นอกจากจะวัดขนาดให้พอดีกับลูกค้าแล้ว เขายังออกแบบให้แว่นตามีรายละเอียดและลักษณะที่สะท้อนบุคลิก ความสนใจ หรือแม้แต่อาชีพของลูกค้าแต่ละคนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แว่นตาก็ไม่ควรจะแค่สวยหรือแปลก แต่ยังต้องใส่สบาย คุณภาพดี และทนทานต่อการใช้งาน ทักษะงานจิวเวลรี่ที่เขาร่ำเรียนและฝึกฝนมาตลอดกว่าสิบปีนั่นเอง คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ GIMM EYEWEAR ยังมีลูกค้าให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง       

จะคราฟต์กันไปถึงไหน
เมื่อก่อน หากเอ่ยถึงงานคราฟต์ เรามักนึกถึงสิ่งของที่สร้างหรือทำขึ้นมาเพื่อการใช้งานหรือเพื่อประดับตกแต่ง เช่น เครื่องจักสาน เครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผา หรือเครื่องเรือนไม้ แต่ปัจจุบัน งานคราฟต์อาจหมายรวมไปถึงการทำอะไรสักอย่างด้วยมืออย่างประณีต พิถีพิถันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับของที่มีอยู่เดิมหรือวิธีการผลิตแบบเดิมๆ งานคราฟต์ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่การประดิษฐ์ของใช้ แต่ยังกระโดดไปถึงวัฒนธรรมการกินอยู่และใช้ชีวิตในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การหมักเบียร์ ไปจนถึงการขัดรองเท้า
    
ประเทศญี่ปุ่นนั้นที่มีวัฒนธรรมการดื่มเบียร์มายาวนาน และยังเข้มข้นจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีผู้ผลิตเบียร์เจ้าใหญ่ครองตลาดอยู่แล้วถึง 4 ยี่ห้อ แต่ก็ยังมีคนที่คิดทำเบียร์เอง หรือที่เรียกว่า “คราฟต์เบียร์” เพื่อขายในร้านเล็กๆ เป็นเบียร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผู้ทำสามารถบรรจุความสนใจส่วนตัวรวมถึงวัตถุดิบท้องถิ่นลงไปด้วย ความจริงข้อนี้ตอกย้ำความเชื่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไร มนุษย์เราก็มีแรงผลักดันให้แสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ที่แตกต่าง หลากหลาย และพร้อมที่จะกระโดดลงไปร่วมสร้างสรรค์มันเสมอเมื่อมีโอกาส แม้ว่าจะต้องแลกด้วยความอุตสาหะ ความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และวันเวลาอีกมากที่ต้องสูญไป สิ่งที่ได้กลับคืนมาอาจไม่ใช่ผลกำไร แต่การได้ทำสิ่งที่รัก ใช้เวลาอยู่กับมัน และหมกมุ่นกับมัน สุดท้ายแล้ว จะนำความสุขมาให้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ จากการสัมภาษณ์บรูเวอร์หลายๆ คน ทำให้ประจักษ์ว่ากระบวนการทำเบียร์ของพวกเขานั้นสามารถเรียกว่างานคราฟต์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย
 
craftnow6.jpg
© albertsiegel.photoshelter.com                                               © cdn.styleforum.net

ห้างโตคิวแฮนด์ส (Tokyu Hands) สาขากินซ่า คือห้างที่ส่งเสริมงานช่างและงานดีไอวายหลากหลายประเภท ซึ่งจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือครบครัน ระยะหลังนี้ได้อุทิศมุมหนึ่งของแผนกดีไอวายให้กับอุปกรณ์การขัดรองเท้า ซึ่งล้วนดูน่าใช้ สวยงาม และหลากหลาย รวมถึงมีหนังสือที่เขียนแนะนำเทคนิคการขัดรองเท้าวางขายอยู่หลายปกจนน่าประหลาดใจ ห่างออกไปไม่ไกล หน้าห้างโตเกียว โคสึ ไคคัง (Tokyo Kotsu Kaikan) ใกล้สถานีรถไฟกินซ่า เราจะพบบริการรับขัดรองเท้าภายใต้ชื่อ Chiba Special ซึ่งคนขัดแต่งตัวแบบย้อนยุค สวมหมวก ใส่เสื้อกั๊ก ผูกหูกระต่าย จัดวางเก้าอี้และตู้เก็บอุปกรณ์หน้าตาโบราณเข้ากันไว้รองรับลูกค้า ซึ่งถ้าพอมีเวลาหยุดยืนดูงานบริการของพวกเขาสักนิด คุณก็จะต้องพยักหน้าเห็นด้วยแน่ๆ ว่า งานขัดรองเท้าที่มีขั้นตอนละเอียดและละเมียดละไมนี้ ก็ควรจะถูกยกย่องให้เป็นงานคราฟต์เช่นกัน    

เมื่อความหมายของคำว่า "คราฟต์" ในปัจจุบันเน้นไปที่ความพิถีพิถันในขั้นตอนการทำ งานคราฟต์กินความกว้างไปกว่า Traditional Craft หรืองานช่างแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย แต่อาจเป็น Innovative Craft ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาให้เกิดวัสดุใหม่ เทคนิคใหม่ ส่งผลให้เกิดงานคราฟต์แบบที่เราอาจไม่เคยพบเห็นมาก่อน  

วัฒนธรรมการลงมือทำ กระแสความนิยมระยะสั้น หรือ ทางรอดของระบบเศรษฐกิจ   
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ความนิยมในงานทำมือเป็นผลจากความรู้สึกโหยหาคุณค่าของสิ่งต่างๆ เพราะปัจจุบัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็รวดเร็ว ง่ายดายแค่กดปุ่ม ฉะนั้นกลุ่มคนที่เอือมกับเทคโนโลยีจึงหันกลับไปหาความสบายใจแบบเดิมๆ ด้วยงานทำมือซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการย้อนกลับไปหาคุณค่าของสิ่งที่เคยเห็นคุณย่าคุณยาย หรือแม่ป้าน้าอาทำตอนเราเป็นเด็ก อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เทคโนโลยีมีส่วนอย่างมากต่อการกลับมาของงานคราฟต์ในครั้งนี้ เมื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กกำเนิดขึ้นและพัฒนาจนใครก็เข้าถึงได้ มันก็ทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ นั่นคือเชื่อมต่อความคิด ความสนใจของคน “หัวใจเดียวกัน” จากทั่วโลก เมื่อเธอคราฟต์ ฉันก็คราฟต์ด้วย จนเกิดเป็นการปะทุขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วของคนทำงานคราฟต์ ตลาดนัดงานทำมือ และโดยเฉพาะเวิร์กช็อปงานช่าง งานฝีมือ ซึ่งทำหน้าที่กระจายความรู้และเพิ่มปริมาณคนทำงานคราฟต์ให้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

หากอยากได้คำตอบว่าเหล่าเวิร์กช็อปงานคราฟต์ที่ผุดขึ้นมากมายในบ้านเราขณะนี้ จะนำพาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือหนทางใหม่ๆ ในแง่เศรษฐกิจในอนาคตได้หรือไม่ คงต้องย้อนกลับไปมองดูก่อนว่า เหตุผลที่มาที่ไปที่ส่งให้เวิร์กช็อปจำนวนมากเกิดขึ้นนั้นคืออะไร
 
craftnow7.jpg
© facebook.com/thecaveworkshopstudio  
   
สภาพเศรษฐกิจถดถอยที่กระจายไปทั่วโลกน่าจะเป็นเหตุผลหลัก การทำมาหากินในยุคสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีปัจจัยอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นจากอดีต โดยเฉพาะช่องทางการขายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่เปิดโอกาสให้เราซื้อขายกันได้ข้ามทวีป แต่ใครต่อใครก็ล้วนอยากสวมบทบาทเป็นผู้ขายและผู้ผลิต ขณะที่เงินในกระเป๋าที่จะจับจ่ายใช้สอยของคนในยุคนี้นั้นแสนจะฝืดเคือง แนวคิดการทำธุรกิจสมัยนี้จึงไม่อาจเน้นที่การเชื้อเชิญให้คนเอาแต่ซื้อเหมือนก่อน หากมีลักษณะของการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ซึ่งการเปิดเวิร์กช็อปงานคราฟต์เพื่อส่งต่อความรู้ความชำนาญเฉพาะทางให้แก่ผู้ที่สนใจ ก็เป็นทางเลือกที่ทำได้ง่ายและดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ดี
    
ปัญหาเศรษฐกิจนำไปสู่ค่านิยมเรื่องรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการเป็นพนักงานกินเงินเดือนอีกต่อไป หากพอใจและใฝ่ฝันที่จะทำงานอิสระ เป็นนายตนเอง เป็นฟรีแลนซ์ หรือมีธุรกิจส่วนตัว การเพิ่มพูนทักษะด้านต่างๆ ให้กับตนเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่าหาวิชาติดตัว เป็นทางเลือกในการประกอบธุรกิจในอนาคต ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงมุ่งไปหาทักษะวิชาที่ตนสนใจ เวิร์กช็อปงานคราฟต์ที่ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งส่วนมากผู้เรียนไม่ต้องมีความรู้พื้นฐาน และใช้เวลาเรียนไม่นานคือคำตอบ

แม้จะดูเหมือนว่ามีความคึกคักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในวงการคราฟต์ แต่ในภาพรวม ยังมีปัญหาที่น่าขบคิดตามมา นั่นคือลูกค้าที่อุดหนุนงานคราฟต์ในวันนี้เขาเห็นคุณค่าของมันจริงๆ หรือแค่โหนกระแส และนอกเหนือจากการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว เวิร์กช็อปงานคราฟต์จะสามารถสร้าง "ตัวจริง" ให้เกิดขึ้นได้มากเพียงใด เพราะอย่างที่รู้กันว่า งานช่าง งานคราฟต์ใดๆ ก็ตาม ล้วนต้องการทักษะความชำนาญ และต้องอาศัยเวลาให้กับการฝึกฝนและทุ่มเท แค่มีฝีมืออย่างเดียวไม่พอ ยังต้องมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลิตงานหรือบริการที่ตรงความต้องการของตลาดอีกด้วย
       
แล้วประเทศอื่นๆ เขาจัดการ ต่อยอดความสนใจ และฝึกฝนทักษะของผู้คนกันอย่างไร
ลองมาดูประเทศสหรัฐอเมริกา วัฒนธรรมงานช่างหรือ Maker Culture ของเขาเกิดขึ้นก่อนเราสักประมาณสิบปี หมุดหมายที่เป็นประจักษ์พยานของการเริ่มต้นวัฒนธรรมนี้ คือการเกิดขึ้นของนิตยสาร Make ในปี 2005 ด้วยสโลแกนว่า “We are all makers” เดล โดเฮอร์ตี้ (Dale Dougherty) ผู้ก่อตั้งนิตยสารหัวนี้เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาสังเกตเห็นความเป็นนักประดิษฐ์ที่มีอยู่ในชาวอเมริกันมานาน จึงทำนิตยสารเล่มนี้ขึ้นเป็นสื่อกลาง เพื่อให้แต่ละคนได้เปิดโลกกว้าง และเป็นช่องทางให้พวกเขาได้รู้จักกับคนหัวใจเดียวกัน หลังจากนั้นในปี 2012 เขาก่อตั้ง Maker Faire ซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่ที่เปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์จากทั่วประเทศได้มาเจอกันตัวเป็นๆ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก จนส่งผลให้เกิดกิจกรรมลักษณะเดียวกันไปทั่วประเทศ สิ่งที่ตามมาคือเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และอาจไปไกลถึงการร่วมมือและร่วมทุน
    
เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีปัญหา รัฐบาลไปจนถึงหน่วยย่อยในสังคมอย่างโรงเรียน จึงหันมาให้ความสำคัญกับการฝึกทักษะ โรงเรียนหลายแห่งเพิ่มหลักสูตรและเปิดให้มีเวิร์กช็อปงานช่างที่เด็กๆ จะได้ฝึกทดลองและฝึกล้มเหลว นอกจากนี้ยังมี Makerspace และ Fab Lab เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับนักประดิษฐ์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกความสนใจ โดยจะมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และผู้ชำนาญพร้อมให้บริการ ขอแค่มีใจอยากลงมือทำอะไรสักอย่าง ชุมชนของเหล่า Maker นี้ก็พร้อมจะช่วยกันผลักดันโครงการในฝันให้กลายเป็นจริง ซึ่งอาจสร้างมูลค่าได้มหาศาลในอนาคต แม้แต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังแสดงทัศนะถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า "DIY ในวันนี้ อาจจะเป็น Made in USA ในวันหน้า"   
 
craftnow8.jpg
© facebook.com/littletreegarden

Craft NOW or NEVER
งานหัตถกรรมชาวบ้านที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในท้องตลาดวันนี้ แม้จะมีความประณีตและความงาม แต่ไม่ได้รับความนิยม ทั้งยังมีมูลค่าไม่เทียบเท่ากับคุณค่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรูปแบบที่ไม่สอดรับกับการใช้งานในวิถีชีวิตปัจจุบัน ดังที่เราจะเห็นว่าเมื่อแบรนด์สินค้าอย่าง Muji หรือ Ikea นำงานหัตถกรรมชาวบ้านมาออกแบบใหม่ ผลิตในประเทศไทยเองหรือประเทศเพื่อนบ้าน ปรากฏว่ากลับเป็นสินค้าขายดีและมีราคาสูง

เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย ซึ่งมักมีที่มาจากระบบการศึกษา ตัวอย่างจากหลากหลายประเทศที่เล่าไว้ข้างต้น พอให้ข้อสรุปได้ว่า รัฐบาลควรส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ควรส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบตั้งแต่เยาว์วัย และที่สำคัญที่สุดคือควรปลูกฝังให้คนไทยเห็นคุณค่าของงานฝีมือ ผู้ผลิตเองก็ต้องเห็นคุณค่าในงานของตน

หากเรามองไปยังประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่าเขาสามารถรักษาและเพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถกรรมและหัตถอุตสาหกรรมได้ดีเยี่ยมและน่ายึดเป็นแบบอย่าง เหตุที่งานหัตถกรรมญี่ปุ่นเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในชาติเห็นคุณค่า และยืนยันความเชื่อนั้นต่อชาวโลกว่างานฝีมือของเขานั้นมีค่าและมีราคา ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ออกกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมหัตถอุตสาหกรรมประเพณี โดยระบุให้หน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นต่างๆ มีหน้าที่สนับสนุน ฝึกหัด อบรม และเก็บข้อมูล เพื่ออนุรักษ์ รวมถึงสนับสนุนการรวมกลุ่ม สมาคม หรือหน่วยงานเอกชน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตถกรรมประจำท้องถิ่นด้วย ภาพที่เรามองเห็นในปัจจุบันคืองานหัตถกรรมยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นทุกรุ่นทุกวัย และมีการพัฒนาให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ  

หนทางจากกระแสนิยมงานคราฟต์ไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทยนั้นดูเหมือนอยู่ใกล้แค่เอื้อม การผนวกความคิดสร้างสรรค์เข้ากับงานฝีมือ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและชาญฉลาด สร้างสรรค์สินค้าโดยคำนึงถึงทั้งความงามและประโยชน์ใช้สอยคือหนทางที่เราต้องมุ่งไป แต่หัวใจสำคัญจริงๆ คือความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างงานคล้ายๆ กันตามความนิยมของตลาด เพราะสิ่งนี้นี่เองที่อาจทำให้ Craft Movement ที่กำลังรุ่งโรจน์อยู่ในขณะนี้ ไปถึงจุดจบในเวลาอันสั้น เป็นได้แค่ความตื่นเต้นชั่วครั้งคราว หรือกระแสที่เราเดินรอยตามชาติอื่นๆ มาจาก Pinterest แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถกลายเป็นวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม
Craft NOW! ตอนที่ 1 : การเดินทางของงานหัตถกรรม

เรื่อง: ภัทรสิริ อภิชิต

ที่มา:
บทความ “ช่างสิบหมู่?” จาก guru.sanook.com
บทความ “แนวทางการอนุรักษ์ศิลปะชาวบ้าน” จากหนังสือ ศิลปะชาวบ้าน โดยวิบูลย์ ลี้สุวรรณ จาก patchareezom.wordpress.com
บทความ “ศ.ศ.ป.เตรียมพร้อมผู้ประกอบการหัตถกรรมไทยลงแข่งในอาเซียน” (20 เมษายน 2558) จาก komchadluek.net
บทความ “Big DIY: The Year the Maker Movement Broke” โดย Tim Carmody จาก wired.com
บทความ “Chiba Special: Stylish Shoe-Shining Service for Fashionable Footwear Fanatics” โดย Jeremy Hannigan จาก japanistas.com
บทความ “Maker Movement Reinvents Education” โดย Louise Stewart จาก newsweek.com
บทความ “Moving the Economy: The Future of the Maker Movement” โดย TJ McCue จาก forbes.com
บทความ “Slow Fashion: Carin Mansfield & Universal Utility” จาก fabulousfabsters.com
บทความ “The Art of Craft: The Rise of the Designer-Maker” โดย Justin McGuirk จาก theguardian.com
บทความ “The Art of Doing” โดย Wayne Curtis จาก theamericanscholar.com
บทความ “The Clothing Firm Designing Clothes That Last Forever” โดย Katie Hope จาก bbc.com
บทความ “The Designer as Craftsman” โดย Daniel McKenzie  จาก danielmckenzie.com
บทความ “The Maker Movement Creates D.I.Y. Revolution” โดย Noelle Swan จาก csmonitor.com
บทความ “The Underground Appal of Radically Slow Fashion” โดย Rebecca May Johnson จาก anothermag.com
capellagarden.se
changsipmu.com
th.wikipedia.org