HOME
  • >>
  • PLACE
  • >>
  • อยากรู้ไหม? เด็กรุ่น...

อยากรู้ไหม? เด็กรุ่นใหม่เรียนอะไรกัน รู้จักโรงเรียนไร้กำแพงที่ห้องเรียนอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

17 min. Read   |   04 กุมภาพันธ์ 2568   |   41

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในยุคสมัยนี้ ความเปลี่ยนแปลงเดินทางมาถึงและก่อตัวขึ้นใหม่ในทุกวินาที ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนของสังคม เศรษฐกิจ และโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี ส่งผลให้สังคมและทิศทางการเติบโต การเข้าถึงการเรียนรู้ ไปจนถึงวิธีการเรียนรู้ของผู้คนเปลี่ยนแปลงขนานกันไป

ปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของคนรุ่นใหม่ หรือเจเนอเรชันเบต้าที่เกิดระหว่างปี 2025 ถึง 2039 และภายในปี 2035 และอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า พวกเขาจะมีจำนวนโดยประมาณคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรโลก

เว็บไซต์ McCrindle องค์กรด้านการทำวิจัยจากออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์แนวโน้มทางสังคม พฤติกรรมผู้บริโภค และประชากรศาสตร์ชี้ว่า เจเนอเรชันเบต้าจะเติบโตในยุคที่ AI และระบบอัตโนมัติ ฝังตัวอยู่ในชีวิตประจำวันพวกเขาอย่างสมบูรณ์ในทุกด้าน ส่งผลต่อวิธีการเรียนรู้ การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างไปจากเดิมโดยผสมผสานและสร้างความสัมพันธ์แบบชุมชนดิจิทัลในระดับโลก 

แอชลีย์ เฟลล์ (Ashley Fell) นักวิจัยด้านสังคมของ McCrindle ชี้ว่า เพื่อรองรับความต้องการของนักเรียนรุ่นใหม่และสนับสนุบการเติบโตของพวกเขาอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิตในโลกที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงถึงกัน โรงเรียนจะต้องปรับตัวในหลายด้าน

ห้องเรียนอาจไม่ใช่แค่พื้นที่สี่เหลี่ยมแบบที่พวกเราคุ้นชินกันอีกต่อไป แต่คือประตูสู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่ไร้พรมแดน


(Drazen Zigic / Freepik)

ห้องเรียนในโลกเสมือนจริง (Virtual Reality)
ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ห้องเรียนในอนาคตอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่ในอาคารหรือพื้นที่ทางกายภาพอีกต่อไป แต่ได้ย้ายไปสู่โลกเสมือนจริง (Virtual Reality) แบบ 360 องศา ที่สามารถจำลองประสบการณ์การเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายราวกับอยู่ในพื้นที่หรือประสบการณ์เหล่านั้นจริง ๆ เช่น การสำรวจโบราณสถาน การเรียนรู้ร่างกายมนุษย์แบบ 3 มิติ หรือฝึกทักษะในสถานการณ์จำลองที่ปลอดภัย VR ยังอาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความสนุกสนานและความน่าสนใจในบทเรียน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลาได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ VR ในวันนี้ คือเรื่องของค่าใช้จ่ายและผลกระทบด้านสุขภาพที่ยังคงส่งผลเสียได้ในหลายด้าน จึงเป็นที่น่าจับตามองเช่นกันว่า อนาคตอันใกล้ ทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยี VR จะสามารถทำให้ราคาเข้าถึงง่าย มีประสิทธิภาพ รวมถึงลดผลเสียต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ใช้งานได้หรือไม่ หากเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาได้จริง ก็มีแนวโน้มว่าการใช้ VR อาจกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการออกแบบการเรียนรู้ของห้องเรียนในอนาคตได้เช่นกัน


(Freepik)

การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Personalised Learning) ที่ขับเคลื่อนด้วย AI
เจนเบต้าเกิดและเติบโตมาในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทรกซึมในชีวิตประจำวันอย่างเต็มที่และอยู่ในการรับรู้ของพวกเขาโดยปกติ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน การดูแลสุขภาพ และความบันเทิง อีกทั้งช่วงเวลาสำคัญในวัยสร้างตัวตนอย่างวัยเด็กและวัยรุ่นของพวกเขา จะเต็มไปด้วยการให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกเฉพาะบุคคล (personalisation) อัลกอริทึม AI จะออกแบบการเรียนรู้ การตลาด และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของแต่ละบุคคลในรูปแบบที่เราในปัจจุบันแทบจะนึกภาพไม่ออก

Personalised Learning หรือการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพ ‘เฉพาะบุคคล’ โดยมีปัญญาประดิษฐ์เข้าไปทำงานเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่สำคัญ จึงอาจจะกลายมาเป็นแนวทางการศึกษาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคของพวกเขา โดย AI เข้ามาทำงานในการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ความถนัด ความสนใจ และความก้าวหน้า เพื่อสร้างเส้นทางการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงออกมา และยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูล ‘Big Data’ ของนักเรียน เพื่อนำไปปรับปรุงระบบการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะช่วยออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้า แต่ข้อจำกัดคือการขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและกิจกรรมสร้างสรรค์หรือการทำงานร่วมกันของมนุษย์ การเรียนรู้ที่ผ่านหน้าจอเสมอ อาจทำให้ขาดการเชื่อมโยงกับชุมชนและมิติอื่น ๆ ได้ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องตั้งคำถามและหาจุดสมดุลต่อไป


(Freepik)

ห้องเรียนไร้พรมแดนกับการเป็น ‘พลเมืองโลก’
เด็กรุ่นใหม่จะเป็นเจเนอเรชันที่มีโอกาสอย่างมากในการเผชิญหน้ากับความท้าทายทางสังคมครั้งใหญ่ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเคลื่อนย้ายประชากรในระดับโลก และการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว และด้วยการเติบโตมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่และผู้คนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีที่เน้นความสามารถในการปรับตัว ความเท่าเทียม และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เจนเบต้าจึงมีแนวโน้มที่จะมีมุมมองสากล มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พลเมืองโลก’ อย่างเข้มข้นมากขึ้น และให้ความสำคัญเกี่ยวกับจิตสำนึกต่อชุมชนและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายของยุคสมัย ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาและห้องเรียนของพวกเขาจึงจำเป็นต้องปรับตัว ทั้งในแง่ของแนวคิดที่เป็นสากลมากขึ้น มีความหลากหลาย และทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกไปพร้อมกัน  


(Freepik)

ความท้าทายและโอกาส
ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลต่อระบบการศึกษาและวิธีการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างที่เราอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน เทคโนโลยีอาจกลายเป็นกุญแจดอกหนึ่งในการปลดล็อกข้อจำกัดมากมายและเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างไร้พรมแดน มีพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียนแต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เกิดพื้นที่ประสบการณ์แบบใหม่ที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ตามความต้องการและวิธีการเรียนรู้เฉพาะบุคคลได้ดียิ่งขึ้น มากไปกว่านั้น ยังอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้าไปเป็นตัวช่วย ‘ลดช่องว่าง’ ในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลก ให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมตามเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของการออกแบบระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่นได้มากขึ้น แต่ในแง่หนึ่ง อิทธิพลที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและรวดเร็วของเทคโนโลยีก็เป็นดาบสองคม การตั้งคำถามและการตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดและผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีด้วยความระมัดระวัง จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามในการทำงานกับเด็กและเยาวชน เช่น ประเด็นผลกระทบด้านพัฒนาการ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การลดลงของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมไปถึงผลกระทบทางจิตใจและพฤติกรรมของพวกเขา ที่ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเกิดการถกเถียงและร่วมกันหาที่ทางที่ ‘สมดุล’ โดยคำนึงถึงทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่กำลังปะทะเข้ามาพร้อม ๆ กัน

ท้ายที่สุด แม้โลกของชาวเบต้าจะมาถึงในวันที่พวกเราหลายคนอาจอยู่ในอีกวัยหนึ่งแล้ว และดูเหมือนว่าเป็นโลกของคนละเจเนอเรชันกับผู้คนในวันนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในวันพรุ่งนี้ย่อมเชื่อมโยงกับโลกของวันนี้อย่างไม่อาจแยกขาด โจทย์ที่ท้าทายเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ของพวกเราในวันนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เด็กที่กำลังเริ่มต้นชีวิตในก้าวแรกบนโลก สามารถเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและพร้อมรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ตั้งแต่วันนี้ เราทุกคนจึงจำเป็นต้องร่วมกันสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัว ขยายขอบเขตการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงและวางรากฐานผู้เรียนในฐานะพลเมืองของโลกได้มากขึ้น ไปจนถึงการทำความเข้าใจโลกของเทคโนโลยีอย่างรอบด้าน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ใช้เพื่อเป็นปัจจัยที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น หรือลดคุณค่าของการเรียนรู้แบบดั้งเดิมลง

หากเราสามารถหาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและโลกแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์ได้ เราอาจสามารถสร้างอนาคตที่เด็กทุกคนมีโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม ทั้งยังสามารถพัฒนาพวกเขาได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างความเป็นได้ใหม่ ๆ ให้ผลิบานขึ้นในสังคม ประเทศ รวมถึงโลกใบนี้ได้อีกมากมาย

ที่มา : บทความ “Welcome Gen Beta” จาก mccrindle.com
บทความ “What Is Generation Beta? What Are Their Characteristics?” จาก articles.unishanoi.org
บทความ “What we need to know about generation beta” จาก school-news.com.au
บทความ “Welcome to Generation Beta: The Next Wave of Change” โดย The Network Journal
บทความ “Generation Beta Has Arrived: 5 Ways They’ll Shape Our Future” โดย Jonathan Kao 

เรื่อง : อัญญา

TAGS :   #Place  
0%

SIGN UP FOR NEWSLETTER

Copyright © 2018 TCDC (Thailand Creative & Design Center). All rights reserved.