RELATED ARTICLES
'Questioning' อีกหนึ่งคำจำกัดความที่มักถูกมองข้ามของตัว Q ใน LGBTQ
21 min. Read | 20 มิถุนายน 2567 | 375
เรารู้จักแต่ละอัตลักษณ์ทางเพศในตัวย่อเหล่านี้ดีแค่ไหน ในเดือนแห่งความหลากหลายนี้ แม้จะเป็นหรือไม่ได้เป็นหนึ่งในคอมมูนิตีของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในฐานะ Ally หรือพันธมิตรที่ต้องการสนับสนุนคอมมูนิตีเพื่อสังคมที่เปิดกว้างและโอบรับทุกเพศและทุกความแตกต่างนั้น นี่เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจพวกเขาให้มากยิ่งขึ้น
LGBTQ คือตัวย่อที่สื่อถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยหากมาลองค้นหาความหมายของตัวอักษรแต่ละตัว อาจค้นพบความหมายที่น่าสนใจมากขึ้น “คิด” Creative Thailand ชวนคุณมาชำแหละแต่ละตัวอักษร เพื่อทำความเข้าใจกับความหมายในแต่ละความหลากหลายที่อาจจะมีมากกว่าที่คุณเคยคิด
Cecilie Bomstad / Unsplash
L - Lesbian เลสเบียน หมายถึงผู้หญิงที่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้หญิง หรือมีความรู้สึกชอบผู้หญิง
G - Gay เกย์ หมายถึงผู้ชายที่มีแรงดึงดูดทางเพศหรือมีความรู้สึกชอบผู้ชาย ซึ่งในวัฒนธรรมของต่างประเทศนั้น คำว่าเกย์นี้สามารถใช้เรียกกลุ่มคนที่ชอบคนเพศเดียวกันกับตนเองได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หากชอบเพศเดียวกัน ก็สามารถเรียกว่า Gay ได้เช่นกัน
B - Bisexual ไบเซ็กชวล หมายถึงบุคคลที่มีความรู้สึกชอบ หรือมีแรงดึงดูดทางเพศกับทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม สามารถเรียกสั้น ๆ ว่า Bi (ไบ) ได้
T - Transgender ทรานส์เจนเดอร์ หมายถึงบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการการแปลงเพศ เพื่อให้เพศสภาพของตนเองนั้นเป็นไปตามการแสดงออกทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง หรืออาจไม่ได้เข้าสู่กระบวนการแปลงเพศก็ได้ ซึ่งเเบ่งออกเป็น Male to Female Transgender (MtF) และ Female to Male Transgender (FtM)
Male to Female Transgender (MtF) หมายถึง ผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพมาจากเพศกำเนิดชาย เรียกว่า ผู้หญิงข้ามเพศ (Transwoman)
Female to Male Transgender (FtM) หมายถึง ผู้ชายที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพมาจากเพศกำเนิดหญิง เรียกว่า ผู้ชายข้ามเพศ (Transman)
Q - Queer/Questioning ซึ่งเป็นตัวอักษรที่เราจะมาทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั่นเอง
เมื่อความหมายของตัวอักษรแต่ละตัวของ LGBTQ ถูกนำมาพูดถึง ความหมายของตัว Q มักจะถูกอธิบายด้วยคำว่า Queer (เควียร์) ซึ่งเป็นร่มคันใหญ่ในการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ คำว่าเควียร์มักจะถูกใช้เพื่ออธิบายตัวตนของคนที่ระบุว่าตัวเองนั้นไม่ได้มีแรงดึงดูดทางเพศกับเพศตรงข้าม บางครั้งอาจถูกใช้โดยผู้ที่คิดว่าตนเองไม่ได้เป็นทั้งเลสเบียน เกย์ และไบเซ็กชวล ซึ่งคำว่า ‘เควียร์’ นี้ อาจเป็นคำที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากกว่าเมื่อพูดถึงตัวอักษร Q ใน LGBTQ ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วตัว Q นั้นถูกใช้แทนคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย นั่นคือกลุ่ม ‘Questioning’
“Questioning” (เควสชันนิง แปลว่า การตั้งคำถาม หรือ กำลังตั้งคำถาม) ในเชิงการนิยามทางเพศ หมายถึงบุคคลที่กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังค้นหาว่าตนเองนั้นมีความรู้สึกกับคนกลุ่มไหน หรือมีความดึงดูดทางเพศกับคนเพศอะไร แต่ยังไม่พบคำตอบ บางคนใช้คำนี้ในการระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง คนที่เป็นเควสชันนิงคือคนที่อาจจะกำลังเผชิญกับการตั้งคำถามว่า “เราเป็นเกย์หรือเลสเบียน? หรือเป็นสเตรท? หรืออาจจะเป็นไบ? หรือว่าเป็นเควียร์กันแน่นะ?” แต่ในตอนนี้ยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ หรือมีความรู้สึกว่ายังไม่อยากตอบ ซึ่งในงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศอาจจะมองข้ามคนกลุ่มนี้ไป แต่เควสชันนิงคือกลุ่มคนที่มีอยู่จริง และมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย
บางครั้งคนที่กำลังตั้งคำถามเหล่านี้ อาจไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ตลอดไป หรือไม่สามารถระบุตัวตนทางเพศของตัวเองได้เลยตลอดชีวิต หรือบางคนอาจจะเคยระบุตัวตนทางเพศของตัวเองได้ แต่ใน ณ ขณะนี้ พวกเขาอาจจะไม่แน่ใจแล้ว
Alexander Grey / Unsplash
“Questioning” กำลังตั้งคำถามหรือแค่สับสน?
ในบทความ “The Other “Q”: Questioning One's Gender or Sexual Orientation” ของ David W. Wahl นักจิตวิทยาสังคมและนักวิจัยเรื่องเพศได้ระบุว่า การเอา Questioning หรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองไปปะปนกับความสับสนนั้นเป็นเรื่องที่ผิด เพราะเราตั้งคำถามอยู่ตลอด แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราสับสน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังอยู่ในร้านอาหาร เราอาจจะกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะกินผัดกะเพราหรือราดหน้า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรากำลังสับสนกับรสชาติของผัดกะเพรา หรือสับสนในความชอบกินผัดกะเพราของเรา
อัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศนั้น ไม่ใช่อะไรที่คงทนถาวร รสนิยมทางเพศของเราอาจเป็นอะไรที่ลื่นไหลได้ในระหว่างการใช้ชีวิต เรื่องเพศนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะบังคับจำกัดมันให้เป็นแบบเดิมตลอดไป เราไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศว่า “ฉันชอบเพศตรงข้าม!” ตอนห้าขวบ แล้วต้องชอบแต่เพศตรงข้ามไปตลอดชีวิต
คนส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมกับแรงกระตุ้นทางเพศ เมื่อใช้ชีวิตต่อไป ได้เจอเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน หลาย ๆ คนก็จะตอบสนองด้วยแรงกระตุ้นทางเพศกับเรื่องราวในชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งแรงกระตุ้นทางเพศเหล่านั้นก็อาจจะขัดแย้งกันเอง การตีตราว่าคนที่กำลังตั้งคำถามกับเพศของตัวเองว่า “แค่กำลังสับสน” จึงเหมือนการเอาบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องเพศไปจำกัดเขา ทั้ง ๆ ที่การตั้งคำถามนั้น เป็นกระบวนการพัฒนาตัวตนที่ดีต่อทุกคน
มีแค่คนหนุ่มสาวที่กำลังตั้งคำถาม?
การสรุปว่าการตั้งคำถามเรื่องเพศเป็นเรื่องของวัยรุ่นนั้นไม่จริงเสียทีเดียว เพราะการตั้งคำถามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของตัวเองนั้นเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นกับวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวที่กำลังก้าวออกจากความเป็นเด็กได้มากที่สุด เนื่องจากวัยรุ่นเหล่านี้เพิ่งจะเริ่มรู้จักแรงกระตุ้นทางเพศ หรือรู้จักกับพฤติกรรมทางเพศที่แตกต่างกันออกไป
การตั้งคำถามอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ หรืออาจจะลากยาวไปตลอด ในงานวิจัยของ David W. Wahl ระบุว่า มีกลุ่มตัวอย่างหลากหลายช่วงวัยที่ระบุว่าตัวเองนั้นเป็นเควสชันนิง ไม่ใช่เพียงกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น ยังมีวัยผู้ใหญ่ ซึ่งรวมถึงบุคคลในช่วงวัย 50 ปีด้วย
Aiden Craver / Unsplash
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Questioning
ในปี 2010 มีงานวิจัยที่ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างนักศึกษาที่มีเพศสภาพเป็นชายจำนวน 184 คน ในจำนวนนี้มีคนที่ระบุว่า ตนเองชอบเพศตรงข้าม 149 คน และ 53% ในกลุ่มพวกเขานั้น เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของตนเอง ส่วนกลุ่มที่สองจำนวน 35 คนที่ไม่ได้ระบุว่าชอบเพศตรงข้าม พวกเขาทั้งหมดในกลุ่มนี้ต่างเคยตั้งคำถามกับรสนิยมทางเพศของตัวเองมาแล้วทั้งสิ้น
ผู้เข้าร่วมงานวิจัยคนหนึ่งได้แชร์เรื่องราวของเขาว่า การตั้งคำถามอาจเกิดจากสภาพแวดล้อม รวมถึงกระบวนการเติบโตเพื่อเรียนรู้ความหมายของตัวตนและเรื่องทางเพศ “ฉันเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและมีความหลากหลาย พ่อแม่ของฉันมีเพื่อนที่เป็นทั้งเกย์และเลสเบียน ฉันจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรักของคนเพศเดียวกันค่อนข้างเร็ว ทำให้อาจจะตั้งคำถามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าฉันนั้นชอบเพศตรงข้ามจริง ๆ”
ในขณะที่บางคน การตั้งคำถามอาจหยุดลงเมื่อขาดแรงกระตุ้นทางเพศ “ผมไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการที่ผมมีความดึงดูดกับผู้หญิงเลย แต่ช่วงไม่นานมานี้ ผมเริ่มสงสัยว่าถ้ามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายจะเป็นยังไง มันก็มีความรู้สึกอยากลองหน่อย ๆ นะ แต่ผมไม่รู้สึกดึงดูดกับเพศชายมากพอที่จะลองทำตามความต้องการนั้น”
ส่วนคนอื่น ๆ การตั้งคำถามนี้อาจกำลังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ “มันมีหลายจุดในชีวิตที่ผมหยุดและตั้งคำถามกับตัวเองว่า บางทีเราอาจจะรู้สึกดึงดูดกับผู้ชายก็ได้ ผมตัดสินว่ายังไม่ได้รู้สึกว่าเพศชายดึงดูดผมทุกครั้งที่ตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมา แต่ถ้าวันหนึ่งผมเปลี่ยนใจขึ้นมา ผมก็ยินดีที่จะยอมรับมัน”
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งนั้นศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีเพศสภาพโดยกำเนิดเป็นหญิง จำนวน 333 คน โดยมีคนที่ระบุว่า ตนเองนั้นชอบเพศตรงข้ามจำนวน 228 คน ส่วนอีก 105 คนนั้นระบุว่าตนเองมีรสนิยมทางเพศในกลุ่มอื่น โดยผู้วิจัยได้ระบุว่าในกลุ่มตัวอย่างเพศกำเนิดหญิงนั้น จะมีองค์ประกอบที่ละเอียดอ่อนในเรื่องทางเพศและความโรแมนติกกับคนเพศเดียวกันมากกว่าในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศกำเนิดชาย
การตั้งคำถามกับเพศของตัวเองนั้นสามารถละเอียดอ่อนและแผ่ขยายได้อย่างกว้างขวาง เหมือนกับที่กลุ่มตัวอย่างคนหนึ่งได้กล่าวว่า “ฉันตั้งคำถามกับรสนิยมทางเพศของตัวเองมาเป็นล้านครั้งแล้ว และตอนนี้ก็ยังทำอยู่ ครั้งแรกที่ฉันตั้งคำถามเรื่องนี้คือตอนอายุ 12”
ผู้เข้าร่วมงานวิจัยอีกคนหนึ่งได้อธิบายเรื่องนี้ในเชิงของตัวบุคคล มากกว่าจะเกี่ยวกับเพศสภาพ “ฉันเคยคิดเรื่องนี้นะ ฉันเชื่อว่า (หรือมักจะหวังว่า) ทุกคนเป็นไบเซ็กชวล แล้วคุณก็เลือกไม่ได้ว่าคุณจะมีความรู้สึกชอบ หรือสนใจกับคนไหนจากแค่ตัวตนอย่างหนึ่งของเขา (เช่น จากเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ)”
และสุดท้าย มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยได้แชร์เรื่องราวของตนเองซึ่งหักล้างความคิดที่ว่า การตั้งคำถามเกิดจากความสับสน “ตลอดชีวิตฉันแทบไม่ตั้งคำถามกับรสนิยมทางเพศของตัวเองเลย จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ว่าฉันเกิดความสับสน แต่เพราะว่าหลายคนที่นี่เปิดเผยเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองมาก ทำให้ฉันเริ่มคิดเกี่ยวกับเพศของตัวเองเหมือนกัน”
Cody Chan / Unsplash
David W. Wahl ได้ระบุในบทความของเขาว่า การทำความเข้าใจว่า Questioning หรือการตั้งคำถามนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมทางเพศ แต่รวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศด้วยเช่นเดียวกัน คนที่ระบุตัวตนว่าเป็น Questioning ก็สมควรได้รับความสนใจและความเคารพเช่นเดียวกันกับคนเพศอื่น ๆ นอกจากนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ควรเลิกละเลยประเด็นนี้ และศึกษากลุ่มคนเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการเรียนรู้และเข้าใจในตัวตนของกันและกัน
Questioning นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นกลุ่มคนที่มีตัวตนมาโดยตลอด แต่มักจะไม่ถูกพูดถึงมากนัก เราทุกคนก็อาจเคยเป็นหนึ่งในคนที่ตั้งคำถามกับเพศของตนเอง เราอาจจะเคยเป็น Questioning โดยที่ไม่รู้ตัว หรือหากใครกำลังเผชิญกับการเป็น Questioning อยู่ โปรดจงรู้ว่า มันคือเรื่องปกติซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน คุณไม่ได้กำลังสับสนหรือกำลังเบี่ยงเบน และคุณไม่จำเป็นต้องรีบหาคำตอบเพื่อพิสูจน์ตัวตนกับสังคม มันไม่ใช่เรื่องที่ผิดแม้คุณจะตั้งคำถามเรื่องนี้ไปตลอดชีวิต เพราะความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจไปเสียหมดทุกอย่าง เพียงแค่เคารพกันและกัน รวมถึงเคารพตัวตนของตัวเราเอง เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ที่มา : บทความ “The Other “Q”: Questioning One's Gender or Sexual Orientation” โดย David W. Wahl
บทความ “Q IS FOR QUESTIONING” โดย Heather Corinna
บทความ “Questioning” จาก Nonbinary Wiki
บทความ “Questioning” จาก Gender Wiki
บทความ “Mental Health Facts on Questioning/Queer Populations” โดย American Psychiatric Association
บทความ “What does LGBTQ stand for? Breaking down the meaning of each letter in the acronym.” โดย Clare Mulroy
บทความ “ทำความรู้จักกับ LGBTQI ตัวย่อที่มีความหมาย และประเด็นที่น่าสนใจในความก้าวหน้าของกลุ่ม LGBTQI ในปี 2020” โดย มนูญ วงษ์มะเซาะห์
เรื่อง : ชลธิชา แสงสีดา